5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคบ่าย

351

อันดับที่ 1PSTC ยัน ผถห.PP ยังอยู่ครบ 2 พันล้านหุ้น ระบุเหตุหุ้นร่วงเกิดจากรายย่อยรับข่าวลือผิด

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี หรือ PSTC โดยนายพระนาย กังวาลรัตน์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยถึงกรณาคาหุ้นในช่วงเช้าถูกเทขายจนร่วงติด Floor ว่า ทางบริษัทได้มีการตรวจสอบ จากกรณีที่ราคาหุ้น ปรับตัวลดลงแล้ว พบว่า ผู้ถือครองหุ้น PP ทั้งหมด 2,000 ล้านหุ้น ไม่มีใครขายออกแต่อย่างใด แม้ว่าจะไม่ติด Silent period ก็ตาม และบริษัทได้มีการเจรจาระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่ทุกคนแล้วว่า จะร่วมกันดำเนินธุรกิจให้มีการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และต้องมีการถือหุ้นไว้อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี ทั้งนี้ จากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง มองว่าเกิดจากนักลงทุนรายย่อยรับกระแสข่าวลือผิดๆ มา ซึ่งทางบริษัทขอปฎิเศษทุกข้อกล่าวหา ซึ่งได้แก่ 1. การขายหุ้นออกมาของกลุ่มผู้ถือหุ้น PP ในจำนวน 2,000 ล้านหุ้น โดยตรวจสอบแล้วไม่ได้มีใครขายออกมา 2. มีกระแสข่าวลือออกมาว่า ทางบริษัทจะออกหุ้นเพิ่มทุน จึงทำให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขาย เนื่องด้วยไม่ต้องการให้บริษัทเพิ่มทุน โดยความจริงคือ ทางบริษัทไม่ได้มีแผนจะเพิ่มทุนแต่อย่างใด  ซึ่งเงินสดในมือในขณะนี้ถือว่าเพียงพอในการลงทุนระยะยาว อีกทั้งยังมีหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียง 0.7-0.8 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำมาก

อันดับที่ 2 GLOW ไตรมาส4/60 ผลิตไฟฟ้าเต็มกำลังผลิต 100% เตรียม MOU ศึกษาพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในเมียนมา 600 เมกะวัตต์

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.โกลว์ พลังงาน หรือ GLOW โดยนายปจงวิช พงษ์ศิวาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ หรือ COD รวมทั้งหมด 3,500 เมกะวัตต์ โดยในไตรมาส 4/2560 เป็นไตรมาสของการผลิตไฟฟ้าที่มีศักภาพสูงสุด 100%  ซึ่งเป็นปัจจัยในทางที่ดีของผลประกอบกา ส่วนความคืบหน้าศึกษาพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในเมียนมา ล่าสุดได้ศึกษาด้านเทคนิคเสร็จแล้ว ซึ่งสามารถพัฒนาได้ประมาณ 600 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาอยู่ระหว่างการพิจารณาผลการศึกษาด้านเทคนิค คาดว่าจะสามารถลงนามลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อศึกษาในรายละเอียดการลงทุนได้ภายในปีนี้ขณะที่การลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น GLOW รอความชัดเจนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ใหม่ ส่วนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 9 เมกะวัตต์ที่ชนะการประมูล อยู่ระหว่างการก่อสร้างกำหนดเดินเครื่องปี 2562

อันดับที่ 3 KBANKกำไรชะลอตัว14% ตั้งสำรองหนี้เน่าฉุดผลงาน

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ประกาศผลการดำเนินงานปี 2560 มีกำไรสุทธิ 34,338 ล้านบาท ลดลง 14.53% จากปีก่อน โดยนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้จำนวน 90,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 935 ล้านบาท หรือ 1.05% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,483 ล้านบาท หรือ 5.00% โดยมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.44% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,030 ล้านบาท หรือ 1.62% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,363 ล้านบาท หรือ 6.07% ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 2,518 ล้านบาท หรือ 3.94% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.31%

อันดับที่ 4 QH แนวโน้มผลงานปี 61 สดใส จ่อเปิด 15 โครงการใหม่ โบรกเชียร์ซื้อ ให้เป้า 4 บ.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.ทิสโก้ ได้ประเมินภาพรวม บมจ. ควอลิตี้เฮ้าส์ หรือ QH  พบว่าแนวโน้มผลประกอบการปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2560 โดยมีแผนเปิด 15 โครงการ มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดิม 8 โครงการ มูลค่า 9.7 พันล้านบาทในปีก่อน รวมถึงยังมีแผนจะเปลี่ยนโครงการคอนโดมิเนียมที่พัทยาเป็นโรงแรม  และยังใช้งบในการซื้อที่ดินประมาณ 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจาก LHBANK หลัง CTBC เข้ามาเพิ่มทุน และยอดขายโครงการ Q-Sukhumvit ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/2561 ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มยอดขายที่เพิ่มขึ้นหลังสร้างเสร็จเช่นเดียวกับโครงการ Q Langsuan  ดังนั้น แนะนำ “ซื้อ” โดยมีราคาเป้าหมายที่  4.00 บาท

อันดับที่ 5 TMB เด่นสุด 3 โบรกประสานเสียงเชียร์ซื้อให้ราคาสูงสุด 3.4 บาท/หุ้น

มิติหุ้น-บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ประเมิน บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือ TMB กำไรปี 2560ที่ 8.7 พันล้านบาท + 6 % ช่วงเดียวกันของปีก่อนดีตามที่เราคาด แต่สูงกว่าตลาดคาดการณ์ราว 6 % สาเหตุเนื่องจากการขายค่าธรรมเนียมและการตั้งสำรองที่ลดลง และคุณภาพทรัพย์สินฟื้นตัวตามคาด ส่วนปี 2561 คาดกำไรสุทธิที่ 1.1 หมื่นล้บ. เติบโต 23 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และถือว่าเด่นที่สุดในกลุ่มธนาคารด้วย ปัจจัยหนุนจาก 1. รายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกัน ให้กับพันธมิตรหลักอย่าง FWD และ 2. คาดคุณภาพสินทรัพย์ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2560  ส่งผลให้ Credit cost ลดลงจาก 1.44  % ในปี 2560 เป็น 1.35 % ในปี 2561 พร้อมลุ้นตลาดปรับมุมมองขึ้น จึงให้ราคาเหมาะสมที่ 3.4 บาท/หุ้น ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมิน TMB   คงราคาเหมาะสมที่ 3.30 บาท/หุ้นอิง PBV ที่ 1.5 เท่าแนะนำ “ถือ” ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ คาดกำไร TMB ปี 2561-2562 จะเติบโตโดดเด่นราว 18 % พร้อมปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 3.2 บาท/หุ้น