ค่าจ้างขั้นต่ำ…ต้องทบทวน?

514

แม้ว่า คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 19 ได้พิจารณาประกาศการปรับเพิ่ม “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ปี 2561โดยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ อยู่ที่ 5-22 บาท หรือ 1.64-7.14% ไปแล้ว แต่ถือว่า “ยังไม่จบ”

เพราะล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชุมกัน และมีมติ เสนอให้รัฐบาล “ทบทวน” มติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีมติออกมาตามคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง และ ให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย

โดย กกร. ได้สอบถามความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวไปยังสมาชิกทั่วประเทศ โดยเฉพาะสมาชิกต่างจังหวัดถึงผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้  โดยมีข้อสังเกตว่า จากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 ได้ “ปรับเกิน” กว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัด เสนอคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 19 คิดเป็นร้อยละ 92 ของจังหวัดทั้งหมด

มติดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกลุ่มจังหวัด 35 จังหวัดที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ได้เสนอปรับขึ้นค่าจ้าง จึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ภาคบริการ และผู้ประกอบการ SMEs โดยทั่วไป \

ซึ่งส่วนหนึ่งในข้อสังเกตของ กกร. ระบุว่า “การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อีกทั้ง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในภาพรวม รวมทั้ง ค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นตาม จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอีกด้วย”

ต้องจับตาดูกันต่อว่า “จุดลงตัว” ของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ จะพบกันตรงไหน

00 “บิ๊กเซ็ต” 00