ลอยตัวน้ำตาลทรายในประเทศ ใครได้ ใครเสีย (หุ้นตัวไหนจะเข้าวิน)

1039

กลับมาพบกันอีกครั้งครับ ฉบับนี้หากหันไปมองที่ SET Index ต้องบอกว่าอยู่ในช่วงพักตัว หลังจากที่ก่อนหน้าพุ่งทำ All time high ที่ระดับ 1,834 จุด แต่จากนั้นมูลค่าการซื้อขายเริ่มลดลงเนื่องจากตลาดยังไม่มีปัจจัยหนุนใหม่ ขณะเดียวกันก็อยู่ในช่วงประกาศผลการดำเนินงาน 4Q17 และปี 2017 ซึ่งฉบับที่แล้วเราพูดกันไปแล้วว่ากลุ่มใหนหรือ Sector ใหนจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ดังนั้นจึงบอกได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงพักฐาน ซึ่งหลายคนก็อยากจะให้ SET Index ที่ระดับ 1,800 จุด เป็นฐานของการเล่นรอบใหม่ หรือ พักฐานให้แน่นให้มั่นคงก่อน เพื่อพุ่งสู่เป้าหมายต่อไปที่ 1,900 -2,000 จุด หุ้น Big Cap เลือกที่จะพักตัวหรือเคลื่อนไหวในกรอบจำกัดตัวใหนที่ขึ้นไปแรงๆก็หยุดพักรอเติมพลังรอปัจจัยบวกใหม่เข้ามาหนุน ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นเวลาของหุ้น Mid small cap ที่เริ่มออกมาวาดลวดรายกันคึกคื้นมากขึ้น ถ้าเป็นหุ้นเล็กก็อย่าลืมนะครับเน้นหุ้นที่มีพื้นฐานมี Story รองรับกันหน่อยเพราะหากพื้นฐานไม่มีก็จะนำพาเราไปติดดอยกันได้

ฉบับนี้จึงถือโอกาสเอาประเด็นของการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศมาเล่าสู่กันฟังครับเผื่อจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักลงทุนในปีนี้กัน สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 15 ม.ค.2561 รัฐบาล คสช.ประกาศใช้มาตรา 44 ให้ลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่พูดกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีแผนจะยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลในประเทศ เพื่อเลี่ยงปัญหากับ WTO ซึ่งเท่ากับเป็นการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศจากระดับปัจจุบันที่ตรึงราคาขายส่งเอาไว้ที่ 20 บาท/กก. และราคาขายปลีกที่ 23.50 บาท/กก. ซึ่งประเด็นนี้เราประเมินว่าราคาขายส่งและราคาขายปลีกจะลดลง 3 บาท/กก. เหลือ 17.00 บาท/กก. และ 20.50 บาท/กก. ตามลำดับ (อิงจากราคาน้ำตาล London global sugar 5# ที่ US$380/ton, Thai premium ที่ US$50/ton, อัตราแลกเปลี่ยนที่ 32 บาท/ดอลลาร์, เงินสมทบเข้ากองทุนน้ำตาลที่ 3 บาท/กก. และต้นทุนค่าการตลาดขายปลีกที่ 3.50 บาท/กก. นอกจากนี้ รัฐบาลจะยกเลิกการอุดหนุนราคาขายในประเทศ และการจ่ายเงินโดยตรงให้กับชาวไร่อ้อย 5 บาท/กก. ซึ่งหักจากโรงงานน้ำตาลจากราคาขายส่ง

เมื่อมีคำสั่งออกมาแบบนี้แน่นอนต้องมีคนได้และคนเสียประโยชน์ เริ่มจาก เกษตรกร หรือ ชาวไร่อ้อยจะเป็นกลุ่มที่ถูกกระทบมากที่สุดเพราะจะไม่ได้รับเงินอุดหนุน 5 บาท/กก. จากรัฐบาลอีกต่อไป ส่วนโรงงานน้ำตาล (KSL, BRR, KBS และ KTIS) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแต่จะน้อยกว่า เนื่องจากราคาขายส่งสุทธิหลังหักเงินอุดหนุนแล้วเดิมอยู่ที่ 15 บาท/กก. ในขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกบวก Thai premium อยู่ที่ 14 บาท/กก.  ผลกระทบที่เกิดกับโรงงานจึงอยู่ที่ 1-2 บาท/ กก.

อ้าวแล้วใครได้ประโยชน์ละครับ คนที่ได้ประโชน์ก็คือผู้ซื้อหรือผู้ใช้น้ำตาลทรายในประเทศนั่นเองเพราะซื้อราคาน้ำตาลถูกลง ถ้าผู้ใช้ที่อยู่ในตลาดหุ้นก็คือกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มนั่นเองครับ (CBG, ICHI, OISHI, HTC) โดยผู้ประกอบการเหล่านี้จะได้อานิสงส์จากการที่ราคาน้ำตาลในประเทศลดลง 15% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น เราประเมินว่า CBG จะประหยัดต้นทุนลงไปได้กระป๋องละ 0.15 บาท หรือ 135 ล้านบาท เมื่อคิดจากประมาณการยอดขายในประเทศ 900 กระป๋องในปี 2018 จะคิดเป็น 5% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2018 ส่วน ICHI น่าจะประหยัดต้นทุนไปได้ขวดละ 0.05 บาท หรือ 35 ล้านบาทคิดเป็น 7% ของประมาณการณ์กำไรสุทธิปี 18 แต่ตัวที่เราคิดว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดในกลุ่มเครื่องดื่มเรามองว่าเป็น HTC ครับจริงๆแล้วในเรื่องต้นทุนที่ประหยัดได้คงไม่ได้ต่างกันมากครับ แต่พอดีฐานกำไรของ HTC ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นมาก ทำให้ผลบวกที่เข้ามาเพิ่มเป็นกำไรให้กับ HTC ในอัตราที่มากกว่านั่นเอง

คงจะพอได้เป็นแนวทางกันแล้วนะครับว่าตัวใหน Story เป็นอย่างไร ใครได้ใครเสียใครเด่นสุด แต่ยังย้ำไว้เหมือนเดิมครับชอบหุ้น Mid to small cap ต้องเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานรองรับ อาจจะมาช้าหน่อยแต่ก็ชัวร์ ครับ ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุนครับ

 

Disclaimer:  เอกสาร/รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งพิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม บมจ.หลักทรัพย์กรุงศรี มิอาจรับรองความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ บทความดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของผู้จัดทำเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุน บริษัทฯขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือประมาณการต่างๆที่ปรากฏในเอกสาร/รายงานฉบับนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าดังนั้นนักลงทุนโปรดใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบในการพิจารณาการลงทุน