TNDTผนึกทุนใหญ่ยุโรป คว้าใบMICบุ๊คไฟเมียนมา

282

มิติหุ้น- TNDT ระรื่นรัฐบาลเมียนมาปลดล็อคใบ MICโรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 MW มั่นใจโกยเงินเข้าพอร์ตไตรมาส 4/2562 ซุ่มผนึกพันธมิตรรายใหญ่ยุโรป หวังขยายไลน์ธุรกิจใหม่ ลั่นงบปี 61 พุ่งทะยาน เตรียมเซ็นงานใหญ่ PTT-PTTGC-TOP

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า “บมจ. ไทย เอ็น ดี ที หรือ TNDT” โดย “นายสมอุ้ย ตั้งจิตต์ถวารกุล” ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ TNDT เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ม.ค.61 ราคาหุ้น TNDT ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรงนั้น น่าจะมาจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 10 เมกะวัตต์ในประเทศเมียนมา ได้รับใบอนุมัติส่งเสริมการลงทุน หรือ Myanmar Investment Commission (MIC) จากรัฐบาลเมียนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเชื่อมั่นว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ได้นับตั้งแต่ไตรมาส 4/2562 เป็นต้นไป

ผนึกรายใหญ่ยุโรป

พร้อมกันนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนกับพันธมิตรยุโรป เพื่อขยายไลน์ธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม อย่าง ธุรกิจวิทยาศาสตร์บริการการทดสอบและตรวจสอบด้านความปลอดภัยทางวิศวกรรมภาคอุตสาหกรรม ด้วยเทคนิคไม่ทำลาย (Non – destructive Testing – NDT)

โดยพันธมิตรยุโรปรายนี้มีสาขาที่กระจายอยู่ต่างประเทศถึง 40 สาขา และมีสาขาในโซนแอฟริกาซึ่งเป็นประเทศเป้าหมายที่บริษัทจะเน้นขยายในปีนี้ด้วย สำหรับรูปแบบการร่วมทุนจะจัด “ตั้งบริษัทร่วมทุน” หรือไม่นั้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปี 2561 นี้ และหากการร่วมทุนครั้งนี้เป็นผลสำเร็จ นับเป็นการกระจายฐานรายได้ ที่จะช่วยผลักดันให้ผลประกอบการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต

ฮุบงาน‘PTTGC-TOP’

สำหรับภาพธุรกิจปี 2561 เป็นต้นไปจะเติบโต “ลักษณะขาขึ้น” แต่ตั้งเป้ารายได้แบบ  Conservative ที่ 10% ต่อปี ล่าสุดพึ่งได้เซ็นงานใหม่ NDT 2 โครงการ มูลค่ารวม 167 ล้านบาท  แบ่งเป็นโครงการท่อส่งน้ำมันภาคเหนือของ PTT ความยาว 150 กิโลเมตร มูลค่า 27 ล้านบาท และตรวจสอบแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลของ PTT สัญญา 3 ปี 140 ล้านบาท

พร้อมกันนี้อยู่ระหว่างเข้ารับงานใหญ่ของ PTTGC และ โรงกลั่นแห่งใหม่ TOP ซึ่งการรับงานใหม่ๆจะทำให้ Backlog ทะลุ 200 ล้านบาท “สำหรับไตรมาส 4/2560 จะโตต่อเนื่อง เพราะได้เซ็นสัญญาใหม่ในประเทศเข้ามาสูง ประกอบกับพึ่งได้รับงานใหม่ๆในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติมด้วย”

ล่าสุดฐานลูกค้าหลักของบริษัทแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. ผู้ประกอบการด้านการผลิต เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซปิโตรเคมี โรงงานบรรจุก๊าซ โรงไฟฟ้า, 2.กลุ่มก่อสร้าง และ 3.ผู้ประกอบการที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมทางข้อกฏหมายเฉพาะกิจ เช่น สถานีบริการการขนส่ง โรงแรม โรงพยาบาล ก๊าซ น้ำมัน สารเคมี

www.motion.com