มิติหุ้น – บลจ.วรรณ จับจังหวะช่วงเศรษฐกิจฟื้น แนะนำกระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินทั่วโลก สร้างโอกาสผลตอบแทนตามแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น พร้อมเปิดเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ โกลบอล ไฟแนนเชียล (ONE-GLOBFIN) วันที่ 31 ม.ค.-13 ก.พ. 61 นี้
นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะฟื้นตัวต่อเนื่อง จากจุดต่ำสุดหลังเกิด Financial Crisis ในปี 2552 และมองว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐได้เริ่มปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดการณ์การปรับตัวขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อยู่ที่ 2-4 ครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป ได้เริ่มทยอยลดปริมาณเงินในระบบและคาดว่าน่าจะถอนมาตรการ QE สิ้นปีนี้ ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น บลจ.วรรณ มองว่า จะเอื้อให้รายรับของหุ้นกลุ่มการเงินทั่วโลกจะมีโอกาสการเติบโตตามการอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเชิงมหภาค อาทิ ค่าธรรมเนียม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(Net Interest rate) จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจการเงิน
ทั้งนี้ ในแง่ของการลงทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อโอกาสการลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินในต่างประเทศ โดยระหว่างวันที่ 31 ม.ค. – 13 ก.พ. 61 บริษัทเปิดเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ โกลบอล ไฟแนนเชียล (ONE-GLOBFIN) ลงทุนในกองทุน Black Rock Global – World Financials Fund เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการเติบโตของหุ้นสถาบันการเงินทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันประเมินว่า ค่า P/E ของหุ้นกลุ่มการเงินอยู่ที่ประมาณ 13-14 เท่า โดยคาดการณ์การเติบโตของหุ้นในกลุ่มการเงินและปัจจัยมหภาคทางเศรษฐกิจ หุ้นกลุ่มการเงินยังมีความน่าสนใจจากระดับราคาที่ยังไม่สูงมากเทียบกับโอกาสการเติบโตจากรายได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
กองทุน BGF World Financial ให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีจากปัจจุบันอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น(ROE) ที่ฟื้นตัวและส่งผลให้ประมาณการค่า PE มีแนวโน้มปรับตัวลงจาก Earning ที่มีการเติบโต ขณะที่ความเสี่ยงลดลง เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีทุนสำรองที่คาดว่าสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนจากตลาดการเงินในระดับสูง รวมถึงมีขนาดสินทรัพย์ที่เติบโตขึ้น ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องได้หากเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ โดยมีการเติบโตของ Asset Value อยู่ในระดับที่ดี ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Asset Value ของธนาคารพาณิชย์กลุ่มยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 7-8% ขณะที่ Asset Value ของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 4-5%