อันดับที่ 1 PDI จ่อ COD โซลาร์ญี่ปุ่น 10.5 MW รุกปิดดีลพลังงานทดแทน 50-100 MW
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ผาแดงอินดัสทรี หรือ PDI โดยแหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า โครงการโซลาร์ฟาร์ม 10.5 เมกะวัตต์ที่ประเทศญี่ปุ่นคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส1/2561 โดยโครงการนี้ได้ราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 36 เยนต่อหน่วยจะเป็นส่วนหนึ่งในการหนุนรายได้เติบโต จากก่อนหน้านั้น PDI มีโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยและต่างประเทศที่ COD แล้วกว่า 38.6 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว จำนวน 2 แห่งขนาดกำลังการผลิต 114 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท อีดีแอล เจนเนอเรชั่น จำกัด เพื่อทำการลงนามซื้อหุ้นซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นได้ภายในไตรมาส1/2561 จากเดิมกำหนดลงนามในไตรมาส4/2560 นอกจากนี้แล้วเพื่อการเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืนบริษัทได้มุ่งเน้นขยายการลงทุนในธุรกิจบริหารจัดการกากของเสีย บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และลงทุนในธุรกิจแมททีเรียล หรือรีไซเคิลโลหะอันตรายจากของเสียปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างใช้เงินลงทุน 1,600 ล้านบาทคาดเปิดดำเนินการได้ในปี 2562 ทั้งนี้จากการดำเนินการลงทุนในธุรกิจใหม่ 3 ธุรกิจที่กล่าวมานั้นจะส่งผลให้ปี 2562 นั้นมีโอกาสที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด
อันดับที่ 2 GREEN คุยปี61พลิกกำไร-รายได้โตแจ่ม
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บริษัท กรีน รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดย นายประทีป อนันตโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (รักษาการ) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจปีนี้พลิกมีกำไรสุทธิ พร้อมคาดรายได้มากกว่าปีก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม โดยในขณะนี้บริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ทั้งสิ้น 1 เมกะวัตต์ ที่เป็นการลงทุนด้วยตนเอง ในช่วงไตรมาส 3/2560 ที่ผ่านมา และในปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มอีก 2 ราย กำลังการผลิตรวม 8 เมกะวัตต์ สำหรับขาดทุนสะสมที่มีราว 660 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3/2560 ซึ่งเป็นการขาดทุนสะสมมาเป็นระยะหลายปีติดต่อกัน ซึ่งในขณะนี้ทางบริษัทก็พยายามหาแนวทางเช่นกัน แต่โดยเบื้องต้น คาดว่าจะมีกระแสเงินสดที่ได้รับจากกำไรจากการดำเนินงาน ของธุรกิจโรงไฟฟ้าเข้ามา ซึ่งจะทำให้ ภายในระยะ 2 ปีนี้ (61-62) จะสามารถล้างขาดทุนสะสมได้ทั้งหมดท นอกจากนี้บริษัทยังเร่งขายโครงการออริจินส์ บางมด พระราม2 ที่ปัจจุบันเหลือเพียง 90 ห้อง หรือคิดเป็นมูลค่า 160 ล้านบาท โดยประเมินว่าปีนี้จะขายได้ทั้งหมด
อันดับที่ 3 GLOW กำไรไตรมาส4ตามคาด กูรูยกให้เป็นหุ้นปันผลเด่น4-7 % ต่อปี
บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.)แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) แนะถือ บมจ.โกลว์ พลังงาน หรือ GLOW หลังกำไรสุทธิปี 2560 ดีกว่าที่คาด จึงแนะนำ “ถือ” เพื่อรับปันผล ราคาเป้าหมาย 89 บาท/หุ้น โดยใช้วิธีEV/EBITDA ที่ 10x หรือเทียบเท่า 18F P/E=16x; 18F P/B=2.6x; D/P=6.2%(DPS=5.50 บาท ในปี 61) บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” บมจ.โกลว์ พลังงาน หรือ GLOW เนื่องจากผลประกอบการไตรมาส4/2560 เป็นไปตามคาด ซึ่งกำไรจากธุรกิจหลักของ GLOW อยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท (+18.0% YoY, -21.5% QoQ) ส่งผลให้กำไรจากธุรกิจหลักในปี 2560 อยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท (-10.8%) กำไรที่เพิ่มขึ้น YoY มาจากการจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นของ GHECO-1, ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร หรือ SG&A ที่ลดลงและค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงด้วย ขณะที่บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) แนะนำ “ทยอยซื้อ” ถึงแม้ว่าโครงการใหม่ไม่ได้สนับสนุนการเติบโตมากนัก แต่ด้วยราคาหุ้นที่ย่อตัวในช่วงที่ผ่านมาทำให้ปัจจัยเรื่องปันผลที่ทรงตัวในระดับสูงราว 7 % ต่อปี จึงกลับมามีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทางฝ่ายปรับคำแนะนำเป็น “ทยอยซื้อ” ด้วยราคาพื้นฐานปี 61 ที่ 86 บาท/หุ้น
อันดับที่ 4 TLUXE บอร์ดอนุมัติเงินลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในญี่ปุ่นมูลค่า 235 ลบ
บมจ. ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ TLUXE แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการได้มีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 25 ม.ค 2561 ให้เข้าทำรายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่เมืองอาโอโมริ (Aomori) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 20 ยูนิต และค่าเช่าที่ดิน 20 ปี มูลค่า 757.50 ล้านเยน หรือประมาณ 221.06 ล้านบาท และมูลค่า 48 ล้านเยน (หรือประมาณ 14 ล้านบาท) ตามลำดับ รวมมูลค่าทั้งหมด 805.50 ล้านเยน หรือประมาณ 235.07 ล้านบาท ซึ่งหลังจากการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม เพิ่มอีก 20 ยูนิตในครั้งนี้แล้ว เมื่อรวมกับ 7ยูนิต ก่อนหน้านี้แล้วบริษัทฯ จะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งสิ้น 27 ยูนิต มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 531.7 กิโลวัตต์ ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 20 ยูนิตนี้เป็นการซือ้จากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดียวกันจาก 5 ยูนิตเดิม การได้มาในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับโอกาสที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาและบริษัทต้องการพิจารณาผลประกอบการที่เกิดขึ้นก่อน เพื่อพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมต่อไป จึงไม่ได้ถือเป็นการทยอยซื้อและไม่ได้เป็นโครงการเดียวกันแต่อย่างใด
อันดับที่ 5 AKR เซ็นงานใหม่แล้ว 130 ลบ. เร่งปิดดีลงานโซลาร์รูฟท็อป 900 ลบ. ปั้นรายได้รวมโต 30%
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. เอกรัฐวิศวกรรม หรือ AKR โดยนายดนุชา น้อยใจบุญ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2561 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 30% โดยบริษัทจะมุ่งเน้นเข้าประมูลงานติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น โดยปัจจุบันสามารถเซ็นสัญญางานติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปแล้ว 3 ราย มูลค่ากว่า 130 ล้านบาท และอยู่ระหว่างประมูลงานอีก 30-40 ราย มูลค่าประมาณ 800-900 ล้านบาท คาดว่าจะได้งานอย่างน้อย 20% ส่วนธุรกิจขายหม้อแปลงไฟฟ้าในปีนี้ ตั้งเป้ามีรายได้จากการขายหม้อแปลงไฟฟ้าที่ 10% เนื่องจากในปีนี้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรระยะที่2 จำนวน 171 เมกะวัตต์นั้น ผู้ประกอบการต้องเร่งดำเนินติดตั้งให้แล้วเสร็จในปีนี้ คาดว่ามีความต้องการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าประมาณ 200 กว่าลูก นอกจากนี้ ยังเตรียมเข้าประมูลงานขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มูลค่างานประมาณ 5-6 พันล้านบาท