CPAM ประเดิมขายกองทุนใหม่ ชูกลยุทธ์ปรับพอร์ตผันผวนต่ำ  

314

มิติหุ้น – บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล’ มองตลาดหุ้นโลกขาขึ้นแต่ระยะสั้นยังผันผวน สบช่องออกกองทุนเปิด ‘ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โกลบอล แมนเนจ โวลาทิลี้ อิควิตี้’ ชูกลยุทธ์แบบ ‘Managed Volatility’ เน้นคัดเลือกหุ้นคุณภาพจากทั่วโลก ปรับพอร์ตลงทุนให้ผันผวนต่ำเพื่อลดความเสี่ยง เปิดเสนอขาย 19-27 ก.พ.นี้

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด หรือ CPAM ได้เปิดตัวกองทุนใหม่ คือ กองทุนเปิด ‘ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โกลบอล แมนเนจ โวลาทิลี้ อิควิตี้’ หรือ CIMB-Principal Global Managed Volatility Equity Fund (CIMB-PRINCIPAL GMV) โดยนายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน เปิดเผยว่า CPAM มีมุมมองบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เริ่มจากตลาดหุ้นสหรัฐที่ยังมีแรงผลักดันเชิงบวกจากเศรษฐกิจที่เติบโต ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนและนโยบายปรับลดภาษี แต่ยังคงมีความเสี่ยงด้านราคาหุ้นที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 8 ปีที่ผ่านมา

เสิร์ฟกองทุนใหม่รับทางตลาด

ส่วนตลาดหุ้นยุโรปถึงแม้มีโอกาสปรับขึ้น แต่ต้องติดตามปัจจัยการเลือกตั้งในประเทศอิตาลี ประเด็น Brexit และการปรับนโยบายการเงินสู่ระดับปกติของธนาคารกลางยุโรป ขณะที่ตลาดหุ้นไทยที่ได้รับปัจจัยบวกจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ขยายตัว แต่ในด้านอัตรากำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนอาจเติบโตไม่ทัน จึงอาจส่งผลให้เกิดการเทขายหุ้นได้

ดังนั้น เพื่อให้เหมาะกับการลงทุนภายใต้ธีม Stay Invested and Stay Diversified บริษัทจึงเปิดตัวกองทุนเปิด CIMB-PRINCIPAL GMV มีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท โดยมีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียวคือ Acadian Global Managed Volatility Equity UCITS Fund ชนิดหน่วยลงทุน A USD Accumulation เป็นกองทุนหลัก เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งกองทุนดังกล่าวบริหารจัดการโดย Russell Investments Ireland Limited เป็นบริษัทจัดการและมี  Acadian Asset Management, LLC. เป็นผู้บริหารเงินลงทุน

ชูกลยุทธ์ Managed Volatility

โดยจะใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ ‘Managed Volatility’ ที่ใช้หลัก  Internal Quant Model ซึ่งเป็นโมเดลของทาง Acadian ในการคัดเลือกหุ้นในตลาดทั่วโลก และประเมินสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ เพื่อกระจายพอร์ตลงทุนให้มีความผันผวนต่ำ ช่วยลดผลกระทบในภาวะที่ตลาดปรับลดลงและคาดหวังผลตอบแทนที่ดีในช่วงตลาดขาขึ้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนระยะยาว และมีโอกาสให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในรูปแบบ Minimum Variance

โดยนับตั้งแต่กองทุนปี 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 11.47% ต่อปี สูงกว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของดัชนี MSCI World ซึ่งอยู่ที่ 10.85% และปี 2554 ซึ่งเกิดวิกฤตการเงินยุโรปที่กองทุนมีอัตราผลตอบแทน 7.5% เทียบกับเกณฑ์ Benchmark หรือเกณฑ์อ้างอิงผลการดำเนินงานซึ่งติดลบ 5.5% รวมถึงให้อัตราผลตอบแทนติดลบในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2551 ที่น้อยกว่าดัชนีเปรียบเทียบ