สถานะการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของปี 2560

147

มิติหุ้น-ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันของปี 2560  เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับ ปี 2559  โดยกลุ่มน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 3.7% และดีเซลหมุนเร็ว(บี7) เพิ่มขึ้น 2.7% ในขณะที่ LPG เพิ่มขึ้น 3.4% และ NGV ลดลง 12.1%

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ย อยู่ที่ 30.1 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็น 3.7% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันกลุ่มเบนซินเกือบทุกชนิดยกเว้นน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 91 โดยน้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1.2 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 8.2% และแก๊สโซฮอล์ 91 มีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 10.6 ล้านลิตร/วัน  คิดเป็นอัตราลดลง 4.4% สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 28.8 ล้านลิตร/วัน คิดเป็น 4.2% โดยแก๊สโซฮอล์อี 85 มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 1.1 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 18.0% เนื่องจากปัจจุบันมีรถยนต์ผลิตใหม่ที่รองรับแก๊สโซฮอล์ อี 85 เข้าสู่ท้องตลาดมากขึ้น รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ 11.9 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 10.0% เนื่องมาจากราคาขายปลีกที่ปรับตัวใกล้เคียงกันกับแก๊สโซฮอล์ 91 ทำให้ประชาชนเลือกใช้น้ำมันชนิดที่มีค่าออกเทนสูงกว่า ในขณะเดียวกันแก๊สโซฮอล์อี 20 มีการใช้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 5.2 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 8.8%

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี7) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 62.2 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็น 2.7% ถึงแม้ว่าราคาขายปลีกจะปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2559 แต่ปริมาณการใช้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมีปริมาณเพิ่มขึ้น 4.5% (อ้างอิงข้อมูลกรมการขนส่งทางบก) ซึ่งเดือน มี.ค. 2560 เป็นเดือนที่มีการใช้สูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 67.2 ล้านลิตร/วัน มีปัจจัยหลักมาจากการขนส่งและการเร่งทำงานให้แล้วเสร็จ ก่อนเตรียมตัวหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ และในเดือน ต.ค. 60 มียอดการใช้ต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 56.9 ล้านลิตร/วัน โดยมีปัจจัยหลักมาจากช่วงฤดูฝนและเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วง ส.ค. – พ.ย. ส่งผลให้การขนส่งสินค้าในประเทศชะลอตัว

การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันของปี 2560 อยู่ที่ 17.0 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็น 3.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้ทุกภาคยกเว้นภาคขนส่ง ที่มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.6 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 10.0% สำหรับการใช้ในภาคอื่นๆ มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้น โดยภาคปิโตรเคมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นสูงที่สุดอยู่ที่ 5.7 ล้าน กก./วัน  คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 14.7% รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 6.6% และภาคครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.9 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 2.1%