อาจมีผันผวน แต่โดยภาพใหญ่คือ Sideway up

187

ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ การที่กรอบเวลาการเลือกตั้งของไทยมีความชัดเจนมากขึ้น ภายหลังนายกฯกำหนดกรอบไม่เกิน เดือน ก.พ. 2562 (อาจช้าไปบ้าง แต่เมื่อมีกรอบเวลาที่ชัดเจน เชื่อว่านักลงทุนรับได้) ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นตัวปลดล๊อกเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยใน 2H61 ขณะเดียวกันตัวเลขเศรษฐกิจไทยคาดจะยังขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งเชื่อว่าการเบิกจ่ายภาครัฐฯจะเริ่มเป็นปกติในปีนี้ หลังจากที่ชะลอตัวใน 4Q60 ซึ่งเป็นผลชั่วคราวจากการเริ่มบังคับใช้ พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่เริ่มใช้ใน 4Q60 และสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งฝ่ายวิจัยฯจะเริ่มทยอยปรับประมาณการกำไรโดยรวมของ SET index ปีนี้ ซึ่งเราคาดว่าจะเป็นการปรับประมาณการฯขึ้น (Earnings Revision)

ในภาพรวมเรายังไม่เห็นปัจจัยลบที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับจากขาขึ้นเป็นขาลงในปีนี้ แต่อาจมีปัจจัยภายนอกที่จะเข้ามากระทบทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนบ้างคือ Sentiment การลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐฯที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาแรงจากความคาดหวังกำไรบริษัทจดทะเบียนที่จะเติบโตจากเศรษฐกิจและแผนลดภาษีของสหรัฐฯ ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย (สหรัฐฯ) มีโอกาสปรับขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ทำให้อาจมีแรงขายทำกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดความผันผวนขึ้นต่อตลาดหุ้นโลก รวมถึงไทย อย่างไรก็ดีเราประเมินว่าเป็นปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นไทยโดยตรง เพราะเราประเมิน i) ตลาดหุ้นไทย แม้จะปรับขึ้นมามาก แต่ก็ยัง Laggard ตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ii) เม็ดเงินต่างชาติ ไม่ได้ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ตรงกันข้ามเป็นการขายสุทธิมาตลอด iii) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ iv) อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยยังไม่มีการส่งสัญญาณปรับขึ้น และที่ประชุม กนง ส่งสัญญาณว่าจะปรับดอกเบี้ยนโยบายตามสภาวะเศรษฐกิจไทย ไม่เกี่ยวกับการปรับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ

ประเมินกรอบ SET index สัปดาห์นี้ แนวรับ 1800 จุด และ 1780 จุด / แนวต้าน 1850 จุด แนะนำ “สะสม” หุ้นหลักของแต่ละกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการเติบโตที่โดดเด่นของเศรษฐกิจไทย

หุ้นเด่น: กลุ่มค้าปลีก การบริโภคในประเทศ CPALL, COM7, TOA, เพิ่ม RSP และ GPI (รับเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นผู้บริโภค), กลุ่มสื่อ MONO, RS (ผ่านจุดต่ำสุดในปีก่อน), กลุ่มนิคมฯ AMATA, WHA (รับโครงการ EEC), กลุ่มธนาคาร BBL (เศรษฐกิจเติบโต), หุ้นเล็กมีสตอรี่ SPPT, SIMAT (ปีนี้ Turnaround และมีดีลซื้อกิจการ)

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์

ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)