TNDT เปิดเกมร่วมทุนข้ามชาติ ลุ้นคว้างานใหญ่เครือPTT

413

มิติหุ้น-TNDT ซุ่มศึกษาร่วมทุนพันธมิตรยุโรปและอีกหลายประเทศ เพื่อต่อยอดธุรกิจเดิม และ แตกไลน์ธุรกิจใหม่ ส่วนปี 2561 ตั้งเป้ารายได้โต 10% ชี้บิ๊กโปรเจ็กต์รัฐ-เอกชน หนุนงานใหม่เข้าพอร์ตเพียบ ส่งซิกเตรียมฮุบงานใหญ่เครือ ปตท.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. ไทย เอ็น ดี ที หรือ TNDT ผู้นำในธุรกิจให้บริการตรวจสอบและทดสอบทางวิศวกรรมความปลอดภัย ด้วยกระบวนการทดสอบโดยไม่ทำลาย โดย “นายธนรรจ์ ศตวุฒิ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้เพื่อเข้าร่วมทุนกับพันธมิตรยุโรป และประเทศอื่นๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจเดิม และ แตกไลน์ธุรกิจใหม่ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในระยะถัดไป

ปักธงรายได้โต 10%

ส่วนภาพรวมธุรกิจในปี 2561 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตแบบ Conservative ที่ 10% เนื่องจากปริมาณงานใหม่ๆจะเข้ามามากขึ้น ภายหลังจากที่ภาครัฐบาลเร่งเดินหน้างานโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนของภาคเอกชน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทมีโอกาสเข้ารับงานใหม่หรือประมูลงานมากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ปริมาณงานในมือ (Backlog) เพิ่มมากขึ้น

โดยล่าสุดบริษัทพึ่งเซ็นงานใหม่ ในธุรกิจการให้บริการทดสอบและตรวจสอบทางวิศวกรรมด้านความปลอดภันอย่างครบวงจรด้วยเทคนิค  NDT (Non-destructve Testing) จำนวน 2 โครงการ มูลค่ารวม 167 ล้านบาท  แบ่งเป็นโครงการท่อส่งน้ำมันภาคเหนือของ PTT ความยาว 150 กิโลเมตร มูลค่า 27 ล้านบาท และตรวจสอบแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลของ PTT สัญญา 3 ปี 140 ล้านบาท

ลุ้นงานใหญ่กลุ่มปตท.

ด้าน “นายสมอุ้ย ตั้งจิตต์ถวารกุล” ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ TNDT กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเข้ารับงานใหญ่ของ PTTGC และ โรงกลั่นแห่งใหม่ TOP คาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆนี้   โดยปัจจุบันฐานลูกค้าหลักของบริษัทแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. ผู้ประกอบการด้านการผลิต เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซปิโตรเคมี โรงงานบรรจุก๊าซ โรงไฟฟ้า, 2.กลุ่มก่อสร้าง และ 3.ผู้ประกอบการที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมทางข้อกฏหมายเฉพาะกิจ เช่น สถานีบริการการขนส่ง โรงแรม โรงพยาบาล ก๊าซ น้ำมัน สารเคมี

ขณะนี้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 10 เมกะวัตต์ในประเทศเมียนมา ได้รับใบอนุมัติส่งเสริมการลงทุน หรือ Myanmar Investment Commission (MIC) จากรัฐบาลเมียนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเชื่อมั่นว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ได้นับตั้งแต่ไตรมาส 4/2562 เป็นต้นไป