มิติหุ้น – บลจ.กรุงไทย เปิดตัวกองทุนใหม่ “มั่ง มี ศรี สุข” เน้นการลงทุนโดยการจัดสรรเงินลงทุนในหลายสินทรัพย์ทั่วโลก ในรูปแบบ Fund of Funds ตอบโจทย์ทุกระดับความสามารถในการรับความเสี่ยง
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเสนอขายกองทุนใหม่ โดยนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดจำหน่ายครั้งแรก (IPO) กองทุนมั่งมีศรีสุข ในวันที่ 20-28 มีนาคม 2561 ในราคาหน่วยลงทุนละ 10 บาท เงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท เน้นการลงทุนโดยการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allcation) ในหลายสินทรัพย์ทั่วโลก เป็นการลงทุนแบบ Fund of Funds ที่อยู่ภายใต้การบริหาร และจัดการของบริษัท และจะลงทุนในกองทุนใดกองทุนหนึ่งใม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยมีกลยุทธ์การลงทุนมุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด
ออกแบบกองทุนสอดรับความเสี่ยง
โดยบกองทุนมั่งมีศรีสุข แบ่งเป็น 4 กองทุน มีการกระจายน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสมกับวัฐจักรเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา และความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอ (Strategic Asset Allcation) ซึ่งผู้จัดการกองทุนสามารถเพิ่มหรือลดน้ำหนักสินทรัพย์ได้ตามความเหมาะสม ประกอบไปด้วยกองทุนเปิดกรุงไทยมั่งคั่ง, กองทุนเปิดกรุงไทยมีทรัพย์, กองทุนเปิดกรุงไทยศรีสิริ และกองทุนเปิดกรุงไทยสุขใจ โดยแต่ละกองทุนมีการกระจายน้ำหนักการลงทุนในตราสารประเภทต่างๆ ที่แตกต่างกันไป ตามระดับความเสี่ยง
สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทยมั่งคั่ง (KTMUNG) เน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากที่สุด มีความผันผวนมากสุด และผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้เต็มที่ เน้นลงทุนในตราสารทุนสูง 75% โดยกองทุนใช้ผลตอบแทนร้อยละ 9 ต่อปี เป็นตัวชี้วัด ส่วนกองทุนเปิดกรุงไทยมีทรัพย์ (KTMEE) จะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนมาก และให้ผลตอบแทนที่สูงด้วยการลงทุนที่เสี่ยง แต่น้อยกว่ากองทุน KTMUNG เน้นลงทุนตราสารทุน 50% ใช้อัตราผลตอบแทนร้อยละ 7 ต่อปี เป็นตัวชี้วัด
ผลตอบแทนไล่ระดับ
กองทุนเปิดกรุงไทยศรีสิริ (KTSRI) เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง จากการลงทุนในตราสารทุน และมีความผันผวนสูง แต่น้อยกว่ากองทุน KTMEE โดยกองทุนจะลงทุนตราสารหนี้สูง 65%ใช้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี เป็นตัวชี้วัด
กองทุนเปิดกรุงไทยสุขใจ (KTSUK) เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และมีความผันผวนน้อย โดยลงทุนในตราสารหนี้สูง 80% ใช้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ3 ต่อปี เป็นตัวชี้วัด
ที่มา : บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
เรียบเรียง : พรเพ็ญ เวชกามา