– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ตามตลาดหุ้นของสหรัฐฯ โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลง 335.60 จุดลงไปแตะระดับ 24,610.91 จุด หลังได้รับแรงกดดันจากความกังวลของการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตใน Facebook ประกอบกับแนวโน้มการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงนโยบายของสหรัฐฯ ในเดือนนี้
– จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 7 ใน 8 สัปดาห์หลังสุด โดย Baker Hughes ได้รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 แท่น ขึ้นไปแตะระดับ 800 แท่นซึ่งมากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ระดับ 631 แท่น
+ ความตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบียยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มกุฏราชกุมารของซาอุดิอาระเบียได้วางแผนที่จะเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อหารือในแนวทางการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านอีกครั้ง เพื่อเป็นการตอบโต้โปรแกรมอาวุธนิวเคลียร์และบทบาทของอิหร่านในสงครามซีเรีย
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนของอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศอินโดนีเซียและกาตาร์ อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันดีเซลยังคงอยู่ในระดับที่ดี ประกอบกับอุปทานน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง |
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 มี.ค. 2560 ปรับเพิ่มขึ้น 5.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 430.9 ล้านบาร์เรล
- กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย EIA คาดปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ในปี 2561 จะปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับเฉลี่ยที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะขยายตัวสู่ระดับ 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ แซงหน้ารัสเซียกลายเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก
- จับตาสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศลิเบีย หลังเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่ส่งผลกระทบให้ลิเบียต้องประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) และหยุดดำเนินการผลิตจากแหล่งน้ำมันดิบ El Feel ซึ่งมีกำลังการผลิตราว 70,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ว่าลิเบียจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในการเปิดดำเนินการแหล่งผลิตน้ำมันดิบดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 61 ก็ตาม
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน
หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์