TPIPP ครึ่งปีแรกแนวโน้มผลงานแจ่ม ผลิตไฟฟ้าพีค ทั้งปี 61ทำนิวไฮ เล็งประมูลขยะชุมชนหนุนกำลังการผลิตเพิ่ม

435

มิติหุ้น-TPIPP ครึ่งปีแรกแนวโน้มผลงานแจ่ม ผลิตไฟฟ้าพีค ทั้งปี 61ทำนิวไฮ เล็งประมูลขยะชุมชนหนุนกำลังการผลิตเพิ่ม แนะรัฐแผนพีดีพีใหม่ต้องสอดคล้องปริมาณขยะประเทศ 2,000 MW

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด หรือ TPIPP โดยนายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโรงงาน กล่าวว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2561 กำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด(นิวไฮ) หลังจากโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (TG 6 และ TG 4) รวม 100 เมกะวัตต์ ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) จะสามารถCOD ได้ช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ ซึ่งทำให้บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าขยะเพิ่มเป็น 180 เมกะวัตต์ จากปีที่ผ่านมามีPPA อยู่ที่ 80 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ในช่วงปลายไตรมาส2หรือไตรมาส3 ปีนี้โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (TG 8) จะเริ่มขายไฟฟ้าในกับบริษัท ทีพีไอ โพลีน ได้ ซึ่งจะทำให้ปี 2561 บริษัท มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 440 เมกะวัตต์ทำนิวไฮต่อเนื่อง ทั้งปริมาณการผลิตและรายได้ที่จะเติบโตขึ้นเท่าตัว จากปี 2560 บริษัทบันทึกกำไรสุทธิ จำนวน 2,592 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% และรายได้รวม จำนวน 5,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2559

นอกจากนี้ บริษัท ยังหาโอกาสลงทุนโครงการใหม่ๆ โดยเตรียมพร้อมเข้าร่วมแข่งขันโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาไฟฟ้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)หลายแห่ง อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไข(TOR) เช่น 2 โครงการของกรุงเทพมหานคร ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม รวมถึงที่ จ.นครราชสีมา และชลบุรี เป็นต้น เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับบริษัท ทั้งนี้ยังรอดูความชัดเจนโครงการรับซื้อไฟฟ้าโครงการ Quick Win ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างพิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปหากประกาศรับซื้อก็พร้อมเข้าร่วมประมูลเช่นกัน

“นโยบายรัฐซื้อไฟฟ้าขยะถือว่าชัดเจนแล้ว แต่วิธีดำเนินการยังไม่ชัดเจน และบางท้องถิ่นอยู่ในช่วงลอยต่อเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ทำให้การตัดสินใจต่างๆในระดับท้องถิ่นชะลอไป”

ส่วนการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี)ฉบับใหม่ ที่ภาครัฐมีแนวนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตต้องไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้านั้น ภาครัฐไม่ควรมองแค่ผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า เพราะการผลิตไฟฟ้าจากขยะ เป็นการช่วยกำจัดขยะในประเทศ ซึ่งบางเทศบาลที่อยู่ห่างไกลสามารถจ่ายค่ากำจัดขยะได้ในปริมาณสูงเท่ากับกรุงเทพมหานคร ที่สามารถจ่ายได้ประมาณ 700-1,000 บาทต่อตัน ดังนั้น หากไม่กำหนดอัตราเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(ฟีดอินทารีฟ)หรือFIT กับค่ากำจัดขยะให้สมดุล ก็อาจไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน ขณะเดียวกันแผนพีดีพีใหม่ ควรกำหนดสัดส่วนรับซื้อไฟฟ้าขยะให้สอดคล้องกับปริมาณขยะในประเทศ ที่คาดว่าจะมีกำลังผลิตถึง 2,000 เมกะวัตต์ ขณะที่แผนพีดีพี ปัจจุบัน กำหนดรับซื้ออยู่ที่ 500 เมกะวัตต์เท่านั้น

www.mitihoon.com