แกะรอย Dr. Copper กับความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกต่อสงครามการค้า

341

ควันหลงจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังไม่ทันจางหายไป แรงกดดันค่าเงินดอลลาร์ปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อ ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ลงนามในวันที่ 23 มีนาคม ในคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สะท้อนวาระทางการเมืองที่ทรัมป์พยายามจะรักษาคะแนนความนิยมในประเทศก่อนการเลือกตั้งกลางเทอม ด้วยการผลักดันหรือแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยในเชิงสัญลักษณ์ ทรัมป์กำลังทำตามสิ่งที่ได้เคยหาเสียงไว้ หนึ่งในนั้นคือการลดยอดขาดดุลการค้ากับจีนซึ่งสูงถึง 3.7 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี (ข้อมูลปี 2561)

ราคาทองแดงในตลาดโลก หรือรู้จักกันในนาม Dr. Copper เป็นหนึ่งในมาตรวัดสำหรับพยากรณ์จุดเปลี่ยนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก กราฟด้านล่างบ่งชี้ว่าราคาทองแดงในตลาดโลกอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะที่เริ่มมีสัญญาณว่าโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปในไตรมาสแรกของปีกำลังแผ่วลง สภาวะดังกล่าวจึงเปราะบางต่อผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในระยะถัดไป

เราประเมินว่าตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนสูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนจะจับตาอย่างใกล้ชิดว่าสหรัฐฯ อาจยอมผ่อนผันมาตรการสุดโต่งบ้างหรือไม่ การตอบโต้หลากหลายวิธีจากคู่ค้ายักษ์ใหญ่อย่างจีน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่ว่าจีนอาจตัดสินใจโต้กลับด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่าในเบื้องต้นเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างประเทศ แต่เรามองอย่างระมัดระวังว่า หากสถานการณ์ขยายวงไปถึงจุดที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกแล้ว อาจทำให้สกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาทของไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาและพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เผชิญแรงกดดันในทิศทางอ่อนค่าได้เช่นกัน

นับเป็นอีกครั้งที่ค่าเงินดอลลาร์แทบไม่ได้รับแรงหนุนจากการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ช่วงเป้าหมายที่ 1.50-1.75% หลังการประชุมวันที่ 20-21 มีนาคม ขณะที่เฟดยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกราว 2 ครั้งในปีนี้ โดยการประชุมครั้งแรกภายใต้การนำของประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวลล์ เฟดได้แสดงความเชื่อมั่นมากขึ้นว่ามาตรการด้านภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐจะกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ เฟดขยับประมาณการดอกเบี้ย (Dot Plot) ซึ่งบ่งชี้ถึงอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางในระยะยาว (Neutral Rate) ที่สูงขึ้นเล็กน้อยสู่ 2.875% จาก 2.75%

ทั้งนี้ Neutral Rate หมายถึงระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ และไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ประธานเฟดคนใหม่ระบุว่าเฟดยังอยู่บนเส้นทางของการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และผู้กำหนดนโยบายของเฟดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น แต่เป็นที่น่าสนใจว่ากว่าที่เงินเฟ้อจะขยับขึ้นเกินเป้าหมาย ยังคงต้องรอถึงปี 2562 ขณะที่นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ดูเหมือนจะไม่มั่นใจเกี่ยวกับแผนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ยิ่งไปกว่านั้น ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินยังปรับตัวลดลงจากความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเผชิญความเสี่ยงจากการจุดชนวนสงครามการค้าโลกโดยสหรัฐฯ เองตามที่ได้กล่าวข้างต้น

โดย รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)