ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

449

หลังจากใช้ “ความสงบ สยบความเคลื่อนไหว” มาระยะหนึ่ง ในที่สุด ทางการจีน  โดย คณะกรรมการด้านภาษีศุลกากรแห่งคณะรัฐมนตรีจีน ได้ตอบโต้สหรัฐที่ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมก่อนหน้านี้ ด้วยการตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 128 รายการจากสหรัฐ รวมมูลค่ากว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.2561 เป็นต้นไป

สินค้าสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ เศษอลูมิเนียมและเนื้อหมูแช่แข็ง ที่จะถูกเก็บเพิ่มอีก 25% จากภาษีเดิม สินค้าอาหารอีกหลายชนิด เช่น  ถั่ว ผลไม้สด และผลไม้แห้ง โสม และไวน์ ขึ้นภาษี 15% เช่นเดียวกับเหล็กเส้นที่จะถูกเรียกเก็บเพิ่ม 15%

โดยทางการจีน ระบุว่า “เป็นมาตรการปกป้องผลประโยชน์ของจีน และปรับสมดุลกับที่จีนต้องสูญเสียจากภาษีนำเข้าของสหรัฐ”

เมื่อต้นเดือน มี.ค.61 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ลงนามให้จัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และอลูมิเนียมเป็น 10% จากทุกประเทศ ยกเว้น แคนาดา และเม็กซิโก  ที่อยู่ระหว่างการหารือความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA โดยพุ่งเป้าไปที่ เนื่องจาก ทรัมป์ไม่พอใจที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนเป็นวงเงินสูงถึง 3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขาดดุลการค้าโดยรวมของสหรัฐ

ในส่วนของไทย มีการส่งออกเหล็กไปยังตลาดสหรัฐปีละประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สหรฐฯ ซึ่งต้องจับตาดูว่า จะมีผลกระทบอย่างไร

ท่ามกลางสงครามค้าที่เริ่มก่อตัวรุนแรงมากขึ้น ยังมีข่าวดีๆ ให้ผู้ส่งออกไทยได้ชื่นใจกันบ้าง ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค.61 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้ลงนามร่างกฎหมาย การต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2563  หลังจากที่รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งร่างกฏหมายดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.2561 เป็นต้นไป

ปัจจุบัน สหรัฐฯ ให้สิทธิ GSP สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ประมาณกว่า 3,400 รายการ โดยสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ (เหลือ  0%)

ซึ่งจากสถิติการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐฯ พบว่า มีการขอใช้สิทธิฯ ในบัญชีรายการที่ได้รับสิทธิฯ เพียง 1,385 รายการ โดยในปี 2560 สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีการขอใช้สิทธิพิเศษฯ คิดเป็นสัดส่วน 70% ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ

กลุ่มสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษฯ สูง ได้แก่ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้า ยานยนต์/อุปกรณ์ ยางและผลิตภัณฑ์ พลาสติก อาหารปรุงแต่ง และเครื่องดื่ม เป็นต้น โดยกลุ่มสินค้าเหล่านี้มีอัตราภาษีนำเข้าปกติระหว่าง 1-10%

“บิ๊กเซ็ต”