YNP อดีตหุ้นดาวรุ่ง ขอเวลาชุบตัว

3014

YNP หรือ บมจ.ยานภัณฑ์ ถือเป็นหุ้นดาวรุ่งในตำนาน และขวัญใจนักลงทุนประเภทเก็งกำไร จากธุรกิจที่ดูมีความแข็งแกร่งและอนาคตสดใส เพราะถือเป็นซับพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับค่ายรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ก่อนเริ่มเข้าสู่อาการโคม่า หลังขาดส่งงบการเงินตั้งแต่ปี 2554 รวมทั้งยังมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และปัญหาหนี้สินกับสถาบันการเงิน จนนำมาสู่ภาวะขาดทุน และไม่พ้นการถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งหยุดการซื้อขาย โดยขึ้นเครื่องหมาย SP, NP และ NC มาอย่างยาวนานจนถึงวันนี้ ซึ่งราคาซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ 0.29 บาท

สำหรับ YNP ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือน ม.ค.2548 โดยมีราคา IPO ที่ระดับ 13.40 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5.00 บาท ก่อนจะมีการลดพาร์ลงเหลือ 1.00 บาทในปี 2551 ซึ่งปัจจุบัน YNP มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 1,600,000,000 ล้านบาท และกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ยังคงเป็นของตระกูล “พันธ์พาณิชย์” ซึ่งเป็น กลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัท และดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนขึ้นรูปโลหะ (Press Part) ของรถบรรทุก ก่อนจะต่อยอดไปสู่รถยนต์ประเภทอื่นๆ

หุ้นดาวรุ่งกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์

ในช่วงเริ่มแรกที่ YNP เข้าตลาดหุ้นไทย ต้องยอมรับว่าเป็นหุ้นที่นักลงทุนมองว่าดูดีมีอนาคตตัวหนึ่งของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ โดยผลประกอบการในช่วงแรก ถือว่าโดดเด่นเข้าตา เพราะการรับงานจากค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ทั้งโตโยต้า ฮอนด้า ฮีโน่ และกลุ่ม GM ที่คอยป้อนออเดอร์ให้อย่างต่อเนื่อง

แต่หลังจากเข้าตลาดหุ้นได้ไม่นาน ผลประกอบการกลับดำดิ่ง ขาดทุน จากการที่ลูกค้ารายใหญ่เริ่มลดการส่งออเดอร์ให้ รวมถึงปัญหาหนี้กับสถาบันการเงิน จนนำไปสู่การฟ้องร้อง และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจาประนอมหนี้กับแบงก์เจ้าหนี้

ผู้บริหาร YNP ได้แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขเหตุแห่งการถูกเพิกถอน และการนำส่งงบการเงินต่อตลท.ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งระบุถึงเป้าหมายในการทำให้ผลประกอบการพลิกกลับมามีกำไรได้อีกครั้ง เพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้น และกำไรสุทธิเป็นไปตามเกณฑ์ของ ตลท. โดยผลประกอบการล่าสุดปี 2560 พบว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นยังติดลบอยู่ 3,507.17 ล้านบาท ขณะที่ผลดำเนินงานยังคงขาดทุนสุทธิ 256.97 ล้านบาท

กางแผน 5 ปี เจรจาค่ายรถยุโรป

ผู้บริหารของ YNP ได้ระบุถึงเป้าหมายในการทำให้ผลประกอบการกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โดยได้พยายามเพิ่มประสิทธิในการผลิต การลดต้นทุน และการควบคุมค่าใช้จ่าย รวมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับค่ายรถยนต์รายใหญ่เพื่อขอเพิ่มออเดอร์จากลูกค้าเก่า รวมถึงวางแผนธุรกิจระยะยาว 5 ปี ด้วยการหาลูกค้ารายใหม่เพิ่มเติมด้วยการโฟกัสไปที่ค่ายรถยนต์จากยุโรป และออเดอร์จากอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เครื่องจักรการเกษตร และเครื่องใช้ไฟฟ้า

แต่สิ่งที่ผู้บริหารให้น้ำหนักมากที่สุด คือ การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ทั้งธนาคารยูโอบี และธนาคารกรุงไทยให้ตรงกำหนด ซึ่งปัจจุบัน YNP ยังมีสถานะเป็นลูกหนี้ปกติ แม้จะอยู่ในขั้นตอนการยื่นฎีกาคดีธนาคารกรุงไทย มูลค่า 118.18 ล้านบาท และการยื่นเรื่องขอผ่อนชำระหนี้กับธนาคารยูโอบี มูลค่าหนี้ 195.27 ล้านบาท

ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า YNP จะได้กลับมาเทรดอีกเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่า หากผู้บริหาร YNP สามารถผลักดันธุรกิจให้เดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้จริง เชื่อว่า ตลท.คงเห็นในความพยายาม และได้ลุ้นการปลด SP

 


 

งบการเงินย่อ งบการเงิน 60 งบการเงิน59 งบการเงิน58
รายได้ 5,258 5,530 7,715
กำไรสุทธิ -256 -247 -181
สินทรัพย์ 4,614 5,271 5,814
หนี้สิน 8,122 8,680 8,975
ส่วนทุน -3,507 -3,408 -3,160
พาร์ (บ) 1 1 1
ราคาปิด (บ) 0.29 0.29 0.29
PBV (เท่า) na na na

 


รายชื่อกรรมการล่าสุด

นาย สัมพันธ์ พันธ์พาณิชย์              ประธานกรรมการบริษัท

นาย สัมพันธ์ พันธ์พาณิชย์              ประธานกรรมการบริหาร

นาย พริษฐ์ พันธ์พาณิชย์                กรรมการผู้จัดการใหญ่

นาย พริษฐ์ พันธ์พาณิชย์                กรรมการ


ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

นาง จำลอง พันธ์พาณิชย์

นาย ชาญ เลิศประเสริฐภากร

นาย อำนวย พิจิตรพงศ์ชัย

นาง ศิริพร พงษ์วัฒนา

นาย สัมพันธ์ พันธ์พาณิชย์