แอร์พอร์ต เรล ลิงก์  น้อมรับนโยบายกระทรวงคมนาคม เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจ และความสะดวกสบายในการใช้บริการให้แก่ผู้โดยสาร

181

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล  ลิงก์  เดินหน้าแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการให้บริการตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยกำหนดออกเป็นแผน 3 ระยะ  พร้อมยืนยันความปลอดภัยของขบวนรถไฟฟ้าในการให้บริการ ตั้งเป้าสร้างความมั่นใจ และความสะดวกสบายในการใช้บริการให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น

นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล  ลิงก์  เปิดเผยว่า  ภายหลังจากเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายให้บริษัทฯดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการให้บริการผู้โดยสารนั้น บริษัทฯได้น้อมรับ และได้เร่งดำเนินการตามนโยบายที่ได้รับทันที โดยกำหนดแผนงานออกเป็น 3 ระยะ เพื่อสร้างความมั่นใจ และความสะดวกสบายในการใช้บริการให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น

สำหรับแผนระยะสั้น  ได้ดำเนินการเร่งรัดงานซ่อมบำรุงให้เสร็จสิ้นตามที่กำหนดไว้  โดยภายในเดือนเมษายน 2561 จะสามารถซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าให้สามารถใช้บริการได้ 7 ขบวน  ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น และได้เร่งรัดการจัดหาอะไหล่ตามที่ได้มีการจัดซื้อไปก่อนหน้านี้ให้ได้ครบถ้วน  รวมถึงก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขบวนรถดีเซลรางให้บริการแก่ผู้โดยสารในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น เส้นทางระหว่างสถานีลาดกระบัง-สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

ส่วนแผนระยะกลาง เตรียมดำเนินการซ่อมบำรุงขบวนรถให้กลับมาใช้งานได้ครบทั้ง 9 ขบวนภายในเดือนธันวาคม 2561 และเตรียมปรึกษาหารือกับบริษัท ซีเมนส์ จำกัด เจ้าของระบบในการจัดหาอะไหล่ที่ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ นอกจากนั้นยังเตรียมดำเนินการศึกษาการเช่าขบวนรถเพิ่มเติม และพัฒนาปรับปรุงตู้สัมภาระของขบวนรถ  Express จำนวน 4 ตู้  เพื่อเพิ่มอัตราการรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น  รวมถึงเตรียมติดตั้งแผงกั้นราวสแตนเลสกันตกที่ชั้นชานชาลา เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการของผู้โดยสาร ซึ่งจะมีการเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 23 เมษายน 2561 รวมทั้งมีการดำเนินการนำระบบบริหารจัดการคุณภาพ ISO 9001:2015 มาใช้ในงานซ่อมบำรุง โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการประเมินผล และออกใบรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานภายนอก

และแผนระยะยาว เตรียมดำเนินการทำแผนประเมิน และสำรองอะไหล่ที่จำเป็นในการซ่อมบำรุงให้ได้ตามมาตรฐาน 100 % เนื่องจากการสั่งซื้ออะไหล่ในแต่ละครั้งจะใช้เวลา 9 – 10 เดือน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสำรองเก็บไว้ให้เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการรถไฟฟ้า

สำหรับในส่วนของความปลอดภัยของขบวนรถนั้น ยืนยันว่าขบวนรถไฟฟ้าทุกขบวนมีความปลอดภัยในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร  เนื่องจากบริษัททำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัท ซีเมนส์ จำกัด  เจ้าของระบบ  ในเรื่องของการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง และจัดหาอะไหล่ รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของขบวนรถก่อนนำขึ้นให้บริการแก่ผู้โดยสารทุกครั้ง

ส่วนสื่อสารองค์กรและลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด