มิติหุ้น- CAT ร่วมกับ กฟผ. เชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลและพลังงาน พัฒนาระบบตอบสนอง ความต้องการทางไฟฟ้า สร้างนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบาย Energy 4.0
พันเอก สรรพชัย หุวะนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด มหาชน หรือ CAT ร่วมกับ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ลงนามบันทึกความร่วมมือ การบูรณาการด้านดิจิทัลและพลังงานระหว่าง CAT และ กฟผ. เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการเชื่อมโยงข้อมูลการดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารโทรคมนาคม เสริมสร้างโอกาสและความร่วมมือทางธุรกิจในอนาคต ณ ห้องประชุม 201 อาคาร ท.100 สำนัักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กล่าวว่า CAT ได้วางแนวทางดำเนินธุรกิจปี 2561 มุ่งเน้นธุรกิจด้านบริการดิจิทัล (Digital service) มากขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขันขององค์กรให้ทันกับเทคโนโลยีปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งในการจับมือกับ กฟผ. ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของประเทศที่จะเปิดมิติใหม่ให้กับการเชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ ร่วมกัน โดย CAT จะให้การสนับสนุนด้านโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม และ Big Data ในการทำโครงการ Smart Energy พร้อมกันนี้จะได้ร่วมกันศึกษาและพัฒนาการเชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้คือ การนํานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้ามายกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานไฟฟ้าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย รวมถึงเป็นการเตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคของ “Energy 4.0” ประกอบด้วย การศึกษาพัฒนาระบบตอบสนองความต้องการทางไฟฟ้า (Demand Response) เพื่อควบคุมการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสมผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ การใช้เครื่องกําเนิดไฟฟ้าสํารอง การควบคุมอุณหภูมิปรับอากาศ การควบคุมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง การปรับลดโหลดชั่วคราว ร่วมกับการออกแบบด้านการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในพื้นที่หรืออาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Energy Efficiency) ในอนาคตอาจพิจารณาการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar) ระบบกักเก็บพลังงานสำรอง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการพลังงานภายในพื้นที่แบบครบวงจร ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่งานการสร้างนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการพลังงานของประเทศให้ทันสมัย และน่าเชื่อถือ พร้อมรองรับการผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ (New S-Curve Digital Industry) ของประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า และสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม