ไขประเด็น Yield Curve และค่าเงินดอลลาร์

256

 

หลังจากที่เราได้พูดถึงการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 2 ปี ไปก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่สามารถทำหน้าที่หนุนค่าเงินดอลลาร์ได้ วันนี้จะขอวิเคราะห์ในเบื้องต้นว่าลักษณะของเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) พันธบัตรสหรัฐฯ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์อย่างไรนะคะ

ช่วงปลายเดือนเมษายน ดัชนีดอลลาร์ทะยานขึ้นเทียบกับตะกร้าสกุลเงินสำคัญ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเข้าใกล้ 3.00% นับเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกฟื้นตัวต่อเนื่องหลังมีรายงานเกี่ยวกับข้อตกลงลดการผลิตที่นำโดยกลุ่มโอเปก ทำให้อุปทานน้ำมันส่วนเกินทยอยปรับลดลง รวมถึงข่าวที่ว่าซาอุดิอาระเบียต้องการจะหนุนราคาน้ำมันให้พุ่งขึ้นแตะ 80 ถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อขยับสูงขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวขึ้นเร็วกว่าระยะยาว

ทั้งนี้ ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 บ่งชี้ว่าส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนระยะ 2 ปี และ 10 ปี ปรับตัวแคบลงสู่ 0.42% ซึ่งนับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบกว่าทศวรรษเลยทีเดียว (กราฟด้านล่าง) รูปทรงของ Yield Curve ที่มีลักษณะแบนราบ หรือ Flatten สร้างความวิตกให้กับนักลงทุนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะถัดไปจากการคุมเข้มนโยบายการเงินเกินความจำเป็นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อนึ่ง ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยระยะ 2 ปี และ 10 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.13%

เราประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงของรูปทรงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ สู่ Curve ที่ชันขึ้น หรือ Steepen รวมถึงการแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยเราให้น้ำหนักไปที่การหมุนเวียนปรับสถานะการลงทุนของผู้เล่นในตลาดมากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ช่วงนี้จึงน่าจะเป็นจังหวะที่ดีของผู้ส่งออกไทย

นอกจากนี้ เรามองอย่างระมัดระวังว่าการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้แรงหนุนหลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ออกจำหน่ายตราสารหนี้เพิ่มขึ้น อาจจำกัดการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ในที่สุด เนื่องจากการขาดดุลด้านการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องระดมทุนมากขึ้น ความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์จึงยังคงเผชิญกับความท้าทายในระยะยาว

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)