จบ 4 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) หุ้นไทยปิดที่ 1,780.11 จุด หากเทียบกับดัชนีปิดสิ้นปี 2560 ที่ระดับ 1,753.71 จุด เท่ากับว่า 4 เดือน หุ้นไทยขยับแค่ 26.4 จุด เท่านั้น
ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศ “ขายหนัก” โดยขายสุทธิ 79,566.74 ล้านบาท ขณะที่อีก 3 กลุ่ม “รับไว้หมด” โดย นักลงทุนสถาบัน ซื้อสุทธิ 31,628.55 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 1,934.05 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อย ซื้อสุทธิ 46,004.15 ล้านบาท
ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะผันผวนค่อนข้างแรง จากปัจจัยลบรอบด้านที่รุมกระหน่ำ โดยเฉาะ “สงครามการค้า” จีนกับสหรัฐ และปัญหา “คาบสมุทรเกาหลี” แม้ทั้ง 2 ปัจจัยจะคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังมีอีกปัจจัยที่กดดันหุ้นไทย นั่นคือ “การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย” ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ซึ่งเช้าวันที่ 3 พ.ค.นี้ จะรู้กันแล้วว่า การประชุมรอบล่าสุด เฟดขึ้นดอกเบี้ยอีกหรือไม่
หันมามองปัจจัยภายในประเทศ ต้องบอกว่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา อยู่ในภาวะ “อึมครึม” โดยเฉพาะปัญหาด้านการเมือง เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ยังไม่มีความชัดเจน และส่อเค้าลากยาวออกไป ตรงนี้ มีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและภาคประชาชน
จึงไม่แปลกที่จะได้ยินเสียงบ่นดังๆ ว่า ช่วงนี้เหนื่อย เศรษฐกิจไม่ดี ทำมาหากินช่างลำบากซะเหลือเกิน แต่อย่างน้อยก็มี “ข่าวดีๆ” ให้พอชื่นใจกันบ้าง
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.นี่เอง ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเดือน เม.ย.2561 พบว่า ดัชนีดีขึ้นอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่เดือน ม.ค.2558 เป็นผลมาจาก ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 67.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 75.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.1
ดัชนีทุกรายการ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สอง เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่า การส่งออกและการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.2561 ส่งผลให้กำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ
หากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจอย่างต่อเนื่อง และมีมากขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะมีส่วนสำคัญ หนุนเศรษฐกิจไทยขยายตัวระดับ 4.2-4.6% ได้ ในปี 2561 นี้
“บิ๊กเซ็ต”