มิติหุ้น-นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ โดยมีนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะผู้บริหาร
รฟม. ผู้แทนจาก บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ร่วมให้การ ต้อนรับ พร้อมทั้งนำชมพื้นที่โครงการฯ และตรวจดูงานติดตั้งเครื่องจักรซ่อมบำรุง ณ อาคารศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการฯ หลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง จังหวัดสมุทรปราการ จากนั้น นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และคณะ ได้เดินทางไปตรวจความพร้อมในการเดินรถไฟฟ้าของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ผู้รับเหมางานติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้า ณ สถานีเคหะฯ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ กล่าวว่า รฟม. ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อต้นปี 2555 และการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จตามแผนงานตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยโครงการฯ มีงานก่อสร้างงานโยธาที่สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างทางวิ่ง สถานียกระดับ ศูนย์ซ่อมบำรุง อาคารจอดแล้วจร และงานระบบราง โดยเป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับตลอดเส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีแบริ่ง บริเวณซอยสุขุมวิท 107 ไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อถึงบริเวณจุดตัดกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ แนวจะเบี่ยงจากเกาะกลางไปทางด้านทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิท เพื่อข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้น จึงเบี่ยงกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง มีสถานียกระดับ 9 สถานี ดังนี้
1) สถานีสำโรง 2) สถานีปู่เจ้า 3) สถานีช้างเอราวัณ 4) สถานีโรงเรียนนายเรือ 5) สถานีปากน้ำ 6) สถานีศรีนครินทร์ 7) สถานีแพรกษา 8) สถานีสายลวด 9) สถานีเคหะฯ มีลานจอดแล้วจ (Park & Ride) ตั้งอยู่บริเวณสถานีเคหะฯ ริมถนนสุขุมวิท พื้นที่ประมาณ 18 ไร่ รองรับรถได้ประมาณ 700 คัน และมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ตั้งอยู่บริเวณหลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง ประกอบด้วย อาคารบริหารและศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการเดินรถ อาคารซ่อมบำรุงหลัก อาคารจอดรถไฟฟ้า รางทดสอบ และอาคารประกอบอื่นๆ รวมพื้นที่ประมาณ 123 ไร่ มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการฯ รวม 27,673 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านงานโยธา โครงสร้างและงานระบบราง 21,085 ล้านบาท และด้านติดตั้งระบบเดินรถ 6,588 ล้านบาท
ในส่วนของการเดินรถนั้น คณะกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 เห็นชอบให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ซึ่งได้ดำเนินการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าแล้ว 1 สถานี คือสถานีสำโรง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าเพื่อเตรียมเปิดให้บริการได้ครบทุกสถานี โดยมีความก้าวหน้าของงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ณ สิ้นเดือนเมษายน 2561 เท่ากับร้อยละ 59.93 จากแผนงานร้อยละ 63.06 หรือล่าช้ากว่าแผนงานร้อยละ 3.13 ทั้งนี้ เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2561 นี้แล้ว จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการได้เป็นอย่างดี สามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊คแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044