ปตท.-เอ็มดีเอ็กซ์ จับมือศึกษาบริการ “LNG Satellite” ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้

243

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คุณนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในการลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือศึกษาแนวทางการบริการก๊าซธรรมชาติในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้” ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวในภาคอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม โดยนับเป็นการให้บริการในรูปแบบ LNG Satellite เป็นครั้งแรกของไทย

คุณพิชญพงศ์ ณ บางช้าง  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6,500 ไร่ ในเขตพื้นที่  จ.ฉะเชิงเทรา นับเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ตามแผน EEC เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ ปัจจุบัน มีบริษัทรถยนต์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่งดำเนินกิจการประกอบรถยนต์ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของนิคมฯ  การลงนามในบันทึกความร่วมมือที่จะศึกษาพัฒนาการบริการก๊าซธรรมชาติ ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้ วันนี้ จึงนับได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญก้าวแรก สำหรับบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่จะพัฒนาธุรกิจร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรมของไทยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ”

คุณนพดล  ปิ่นสุภา  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปตท. ได้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2554 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคไฟฟ้า พร้อมทั้งได้ศึกษาการขยายโอกาสการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวในภาคอุตสาหกรรม ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมที่ห่างไกลจากระบบท่อส่งก๊าซฯ ของ ปตท. และกลุ่มลูกค้าที่เกาะกลุ่มกันอยู่นอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม (Cluster) ด้วย

การลงนามใน “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือศึกษาการบริการก๊าซธรรมชาติในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้” ครั้งนี้ มีระยะเวลา 2 ปี นับเป็นต้นแบบของความร่วมมือในการพัฒนาการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภาคอุตสาหกรรมด้วยระบบขนส่งทางรถ หรือ LNG Satellite (LNG-SAT) โดยก๊าซธรรมชาติในสถานะของเหลวจะถูกขนส่งทางรถจากLNG Terminal ไปยังจุดรับก๊าซฯ เข้าระบบ LNG SAT และจะถูกเปลี่ยนสถานะจากของเหลวให้เป็นก๊าซ (Regasification) แล้วส่งเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติภายในนิคมอุตสาหกรรม  (Distribution Pipeline) ไปยังโรงงาน ผ่านจุดส่งมอบ ณ สถานีรับก๊าซฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นการบริหารการใช้พลังงานในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมฯ ให้ได้ใช้เชื้อเพลิงด้วยต้นทุนที่ถูกลง เป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ในการตัดสินใจตั้งโรงงานในนิคมฯ ที่สามารถให้บริการดังกล่าว  สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC ตามนโยบายของรัฐ ซึ่ง ปตท. พร้อมและมีแผนจะขยายผลไปสู่พื้นที่นิคมอื่นๆ ในอนาคตต่อไป”