นกแอร์ ผลประกอบการนกแอร์ไตรมาสแรกดีขึ้น ขาดทุนลดลงอย่างชัดเจน

166

มิติหุ้น-ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2561 ของสายการบินนกแอร์ ยังคงปรับตัวดีขึ้น โดยสามารถลดการขาดทุน ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาตัวแปรที่สำคัญทั้งหมดภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2561 สามารถลดการขาดทุนรวมลงได้อย่างมากจาก 295.57 ล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 26.88 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แม้ว่าต้นทุนเชื้อเพลิงจะเพิ่มสูงขึ้น แต่สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็น 4.32 พันล้านบาท เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยต่อที่นั่งลดลง และอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) มีการปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งยังมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแผนการฟื้นฟูธุรกิจของสายการบินให้ผลลัพธ์อย่างดีเยี่ยม และสายการบินกำลังแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง”

การปรับรูปแบบการจองบัตรโดยสารและแผนการตลาดใหม่ ๆ ทำให้นกแอร์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจได้มากขึ้น เนื่องจากเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายกลุ่ม และสามารถควบคุมต้นทุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเพิ่มประสิทธิดังกล่าวมีส่วนทำให้ผลประกอบการโดยรวมของสายการบินดีขึ้น

“การพัฒนาและดำเนินการตามแผนงานที่ได้วางไว้ในไตรมาสแรกนั้น ทำให้นกแอร์สามารถรับมือกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นได้ ร้อยละ 23.2 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน” นายปิยะ กล่าวเสริม

สายการบินสามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้ในไตรมาสแรกนี้ ซึ่งทำให้มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 93.8 เพิ่มขึ้น 6.1 จุด จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนสายการบินมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.83 โดยมีจำนวนผู้โดยสารจำนวน 2.52 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 2.43 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากผู้โดยสารที่เดินทางในเส้นทางบินจีนที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สายการบินมีการเพิ่มการให้บริการในเส้นทางบินจีนเป็น 19 เมือง จากเดิม 8 เมือง ทำให้จำนวนผู้โดยสารเฉพาะในเส้นทางบินนี้เพิ่มขึ้นจาก 94,302 คน เป็น 235,363 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 149.57 เป็นผลให้รายได้ในเส้นทางบินจีนมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 19.82 ของรายได้โดยรวมของสายการบิน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 7.51ในไตรมาสนี้นกแอร์สามารถเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำ (Aircraft Utilization) ได้เป็น 10 ชั่วโมงปฏิบัติการการบินต่อวัน จากเดิมที่ 8.23 ชั่วโมงปฏิบัติการการบินต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5

ปลายไตรมาสที่ผ่านมา นกแอร์มีเครื่องบินอยู่ในฝูงบินจำนวน 29 ลำ ลดลงจากจำนวนฝูงบินเฉลี่ยอยู่ที่ 31.26 เมื่อปีที่แล้ว และสายการบินได้เพิ่มเส้นทางบินภายในประเทศเพิ่มขึ้น 2 เส้นทาง ทำให้ในไตรมาสแรกนกแอร์มีเส้นทางบินภายในประเทศจำนวน 25 เส้นทาง ในขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศยังคงเดิมอยู่ที่ 3 เส้นทางบิน