ค่าเงินปอนด์กับหลายปัจจัยรุมเร้าระยะสั้น

1021

 

นับตั้งแต่กลางเดือนเมษายน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าอีกครั้งตามการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ฟื้นตัว ซึ่งนำไปสู่การขยับสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ขณะที่ค่าเงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือน และอ่อนค่ามากที่สุดในกลุ่มสกุลเงินหลัก (กราฟด้านล่าง) หลังข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อ่อนแอของอังกฤษกระตุ้นให้นักลงทุนลดคาดการณ์อย่างรวดเร็วเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จากระดับ 0.50% ในปัจจุบัน

อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีในเดือนมีนาคม โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษเมื่อเทียบเป็นรายปีลดลงสู่ 2.5% ในเดือนมีนาคม ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7% ในไตรมาสแรก ต่ำกว่าที่บีโออีคาดไว้ที่ระดับ 2.92% ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจอังกฤษเติบโตเพียง 0.1% ในไตรมาสแรก ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ช้าที่สุด นับตั้งแต่ต้นปี 2555 และต่ำกว่าที่บีโออีคาดการณ์ไว้ที่ 0.3% โดยสภาวะอากาศที่เลวร้าย รวมถึงภาคก่อสร้างและภาคการผลิตที่ย่ำแย่ฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ

ทั้งนี้ ตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดว่ามีโอกาสไม่ถึง 10% ที่บีโออีจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 10 พฤษภาคม ความน่าจะเป็นปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากเดิมที่เคยสูงถึง 80% ก่อนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญดังกล่าว โดยเราคาดว่าบีโออีมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไปในเดือนสิงหาคม

ปัจจัยลบด้านพื้นฐานดังกล่าวจะยังคงกดดันค่าเงินปอนด์ต่อไป จนกว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างแข็งแกร่ง หรือกรณีที่คณะกรรมการของบีโออีแสดงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในการประชุมวันที่ 10 พฤษภาคม อาจหนุนแรงซื้อคืนในเงินปอนด์ได้ในช่วงสั้นๆ

อนึ่ง กระบวนการเจรจาถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจทำให้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ สั่นคลอนได้ โดยในเดือนพฤษภาคมนี้ รัฐสภามีกำหนดลงมติเกี่ยวกับร่างแก้ไขกฎหมาย Brexit ซึ่งได้ผ่านสภาสูงหรือสภาขุนนาง (House of Lords) มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้เราประเมินว่าแรงกดดันด้านขาลงต่อค่าเงินปอนด์จะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงนี้ เงินปอนด์มีแนวโน้มจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี บนสมมติฐานที่ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกสะท้อนปัจจัยลบชั่วคราว และเราเชื่อว่าบีโออีจะมุ่งให้น้ำหนักไปที่การขยายตัวของอัตราค่าจ้างมากขึ้นเพื่อกำหนดนโยบายในระยะข้างหน้า การอ่อนค่าของเงินปอนด์ในรอบนี้จึงเข้าข่ายการขายที่เกิดจากคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะถูกเลื่อนออกไป มากกว่าเกิดจากความเสี่ยงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจในระยะยาว

                                                                                                โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง

                                                  ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

                                                                        ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)