อันดับที่ 1 PTG ฤกษ์ดีเปิดดำเนินการ “ปาล์มคอมเพล็กซ์” ภายใน มิ.ย.นี้ หนุนกำไรทั้งปีเพิ่ม
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG โดย นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดดำเนินงานปาล์มคอมเพล็กซ์ภายในมิ.ย.นี้ โดยปัจจุบันมีกำลังผลิตไบโอดีเซลอยู่ที่ 4.5 แสนลิตรต่อวัน และกำลังผลิตน้ำมันสำหรับบริโภคอยู่ที่ 2 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งจะสร้างกำไรสุทธิอยู่ที่ 240 ล้านบาทต่อปี ตามสัดส่วนการถือหุ้น 40% พร้อมกันนี้บริษัทมีแผนนำธุรกิจปาล์มคอมเพล็กซ์เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปี 64 หลังจากที่เปิดดำเนินการครบทั้ง 2 ระยะเป็นที่เรียบร้อย
อันดับที่ 2 LH ลุ้นQ2บันทึกกำไรพิเศษ โบรกฯหนุนซื้อเป้า 12.80บ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานความเคลื่อไหวราคาหุ้น บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือ LH การซื้อขายภาคเช้าปรับตัวขึ้นสูงสุด 11.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท หรือ +2.80%
นักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า คาดแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2561 ขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามการเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านบาท โดยเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ นอกจากนี้ LH ยังมีปัจจัยบวกรออยู่จากการขายอพาร์ทเม้นท์อีกหนึ่งแห่งในสหรัฐฯ เป็น upside gain ต่อประมาณการกำไรสุทธิและเงินปันผลของฝ่ายวิจัย โดยในปีนี้ LH วางแผนเปิดโครงการใหม่ถึง 18 โครงการมูลค่ารวม 3.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว จากปีก่อนหน้าเพื่อเร่งยอด Presales ให้ขยายตัวถึง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 3.1 หมื่นล้านบาท
ด้านนายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ประเมินราคาหุ้น LH โดยคาดกำไรปีนี้ยังเติบโตราว 20% ดังนั้น แนะนำ “ซื้อ” ประเมินราคาเป้าหมาย 12.80 บาท
อันดับที่ 3 TRITN โชว์กำไรไตรมาส1หรูกว่า 27 ลบ.ประกาศลั่นล้างขาดทุนสะสมหมดเกลี้ยง
มิติหุ้น-บมจ.ไทรทัน โฮลดิ้ง หรือ TRITN รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2561ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 27.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.61 ล้านบาท หรือร้อยละ 212.75 จากปีก่อนหน้า ที่ขาดทุนสุทธิ 24.73 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 940.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 888.60 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 1,724.25 โดยรายได้ธุรกิจก่อสร้างมีมูลค่า 890.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 860.71 ล้านบาทหรือร้อยละ 2,922.18 จากปีก่อนหน้า ที่เมื่อคำนวนหักต้นทุนแล้ว ธุรกิจก่อสร้างมีกำไรขั้นต้นจำนวน 41.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.02 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จากธุรกิจสื่อในไตรมาสที่ 1 มีรายได้อยู่ที่ 20.98 ล้านบาท เป็นกำไรขั้นต้น 11.30 ล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 19.95 นอกจากนี้ บริษัทฯรับรู้รายได้อื่นๆอีกจำนวน 28.99 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากมติการอนุมัติของผู้ถือหุ้นกว่า 95% ในการประชุมสามัญประจำปี 2560 ในวาระที่15 ได้รับอนุมัติให้โอนส่วนเกินมูลค่าหุ้น จำนวนไม่เกิน 548,392,949 บาท เพื่อนำไปชดเชยผลขาดทุนสะสมของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 311,538,119 บาท ทำให้บริษัทฯ ล้างขาดทุนสะสมได้ทั้งหมด
อันดับที่ 4 MCS ซื้อหุ้น‘M.C.S.-Nasu’-ชี้4รายใหญ่ญี่ปุ่นป้อนดีล
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เอ็ม.ซี.เอส.สตีล หรือ MCS โดย “นายไพรัตน์ วิวัฒน์บวรวงษ์” กรรมการผู้อำนวยการ เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้ซื้อหุ้นเพิ่มใน M.C.S.-Nasu Co.Ltd ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 16 หุ้น หรือ 32% จากปัจจุบัน MCS ถือหุ้น 66% หลังทำรายการ MCS จะถือหุ้นรวมเป็น 98% ของทุนจดทะเบียน 50 ล้านเยน หรือ 17.794 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเกิดรายการภายในไตรมาส 2/2561 มูลค่า 17,000,000 ล้านเยน หรือ 5.09 ล้านบาท
ส่วนทิศทางธุรกิจ ล่าสุดลูกค้ารายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นทั้ง 4 ราย อาทิ บริษัท คาจิมา คอร์ปเปอเรชั่น ,บริษัท ทาเกนากา คอร์ปเปอเรชั่น ,บริษัท ชิมิสุ และ บริษัทโอบายาชิ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักคิดเป็น 90 % ของรายได้รวม ได้ทยอยสั่งออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นงานโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงคาดหวังว่าในระยะอันใกล้นี้กลุ่มผู้รับเหมารายใหญ่ทั้ง 4 ราย จะป้อนออเดอร์งานโครงสร้างอาคารสนามกีฬาแห่งชาติประเทศญี่ปุ่น เพื่อรองรับงานโอลิมปิกปี 2563 ด้วย
อันดับที่ 5 SANKO ซุ่มคว้าดีลอิตาลี-ทุ่มงบอัพฐานผลิต
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) หรือ SANKO ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียมฉีดขึ้นรูป และชิ้นส่วนสังกะสีฉีดขึ้นรูปตามคำสั่งซื้อของลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้า-เครื่องจักรกลการเกษตร โดย “นายรัฐวัฒน์ ศุขสายชล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ เผยว่า บริษัทแจ้งไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิ 11.96 ล้านบาท เติบโต 250.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 477.77% จากไตรมาสก่อน หลักๆมาจากออเดอร์เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนยังคงสภาพตามกำลังการผลิตปกติ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2561 มั่นใจจะเติบโตต่อเนื่อง เพราะปริมาณออเดอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าหลักๆทั้งฮังการี-ฝรั่งเศส-อิตาลี ทยอยสั่งออเดอร์ต่อเนื่อง หนุน Backlogให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันกว่า 100 ล้านบาท
ทั้งนี้บริษัทยังเตรียมทุ่มงบ 60 ล้านบาท เพื่อสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ 4 เครื่อง หวังเพิ่มกำลังผลิตอีก 10% จากเดิม 1.1 ล้านชิ้นต่อเดือน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นทั้งปี 2561 ภาพธุรกิจจะเข้าสู่ช่วง “เทิร์นอะราวด์” และสร้างผลกำไรต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่พลิกทำกำไรครั้งแรกในรอบหลายปีที่ 6.29 ล้านบาท