GULF มั่นใจรายได้ตามเป้า 2 หมื่นลบ. ลุยลงทุนต่างประเทศเพิ่ม หนุนการเติบโตต่อเนื่อง เป้า COD ทะลุ 1.1 หมื่น MW ปี 67

232

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF โดยนายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดแผยว่า มั่นใจว่ารายได้ปี 2561 เติบโตตามเป้าหมาย 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากปัจจัยหนุนโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้ 4 โครงการ โดยได้ COD ไปแล้ว 2 โครงการแล้วโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (SPP) รวม 250 เมกะวัตต์ และเตรียม COD เพิ่มอีก 2 โครงการ รวม 250 เมกะวัตต์ในเดือน ก.ย. และ พ.ย.2561 นี้  ส่งผลให้สิ้นปี 2561 มีกำลังผลิตที่ COD แล้ว 2,280 เมกะวัตต์ ตามสัดส่วนการถือหุ้นของ GULF แต่หากรวมกำลังการผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 5,529 เมกะวัตต์ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่เหลืออีก 4 โครงการ จะ COD ในปี 2562

ขณะที่การขยายการลงทุนใหม่นั้น GULF อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา และยื่นประมูลในต่างประเทศหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์ม ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติในประเทศเวียดนามที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 15,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้สัดส่วนการลงทุนอย่างน้อย 15-20% จากกำลังการผลิตดังกล่าว

ล่าสุด ได้ลงนามเซ็นสัญญาโซลาร์ฟาร์มในเวียดนามแล้ว 118.8 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเวียดนาม 84 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างรอผลประมูลโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ รู้ผลประมาณเดือน มิ.ย. นี้ คาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกันนี้ ได้เข้าศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าโครงการก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ คาดได้ข้อสรุปไตรมาส 1/2562

รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศ สปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 500-600 เมกะวัตต์คาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงทุนภายในไตรมาส 4/2561 นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนโซลาร์ฟาร์มในประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย ขณะในประเทศไทย อยู่ระหว่างพิจารณาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม SPP 3 โครงการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมขนาดกำลังการผลิตรวมประมาณ 300-400 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปไตรมาส3/2561

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้า IPP ที่จ.ชลบุรี และจ.ระยอง ที่มีอยู่ในมือราว 5,000 เมกะวัตต์ จะเริ่มดำเนินการทยอยลงทุนในระยะแรก 2,500 เมกะวัตต์ปี 2562 กำหนด COD ปี 2565 มูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท ที่เหลือ 2,500 เมกะวัตต์ทยอยลงทุนในปี 2566-2567 โดยหากลงทุนครบทั้งหมด 11,126 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการกู้เงินในสัดส่วน 75% ซึ่งหาก COD ได้ครบทั้งหมด จะส่งผลให้ได้เงินปันผลเต็มปีในปี 2569 ราว 10,000 ล้านบาท

www.mitihoon.com