มิติหุ้น- SCN พัฒนาก่อสร้างโครงการประเดิมซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่สุดในอาเซียน ขนาด 220 MW ก้าวสู่หนี่งในผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
ดร.ฤทธี กิจพิพิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่ต้องการขยายฐานการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยจะศึกษาโอกาสการเข้าลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งลักษณะการเข้าลงทุนนั้น บริษัทฯ ได้เปิดกว้างโดยจะมีทั้งรูปแบบการเข้าร่วมทุนเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อเข้าดำเนินการพัฒนาและก่อสร้าง (Green Field) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงงานหมุนเวียนได้ตั้งแต่ต้นจนถึงกระบวนการจำหน่ายไฟฟ้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญาซื้อขายไฟ โดยบริษัทฯ จะนำองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านพลังงานและความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจพลังงานมานานกว่า 30 ปี รวมถึงฐานะทางการเงินที่มีความแข็งแกร่งเข้าไปช่วยต่อยอดผลักดันการดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว บริษัทฯ จึงเข้าดำเนินการซื้อกิจการบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP Thailand โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 1,234.88 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้น 30% โดย GEP Thailand เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ที่ถือหุ้น 100% ในบริษัท GEP Myanmarจำกัด ผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาร์ ให้เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เมืองมินบู ประเทศเมียนมาร์ และทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) บริษัท Electric Power Generation Enterprise จำกัด (EPGE) ระยะเวลาทั้งสิ้น 30 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการจ่ายไฟฟ้า โดยโครงการนี้ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งที่ 5 ตั้งแต่ที่ SCN ดำเนินธุรกิจพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มา ซึ่งหากรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บางภาษี จังหวัดนครปฐมและโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ V.O.Net ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จะส่งผลให้ SCN มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 226.1 MW
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เมืองมินบู ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนพื้นที่โครงการทั้งสิ้น 836 เอเคอร์ หรือประมาณ 2,115 ไร่ มูลค่าโครงการ 292.62 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 220 MW ที่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในอัตรา 0.1275 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงตลอดอายุสัญญา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบตามสัญญา โดยแบ่งการพัฒนาและก่อสร้างเป็น 4 เฟส คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญาซื้อขาย (SCOD) จำนวน 50 MW จากโครงการเฟสแรกภายในไตรมาส 1 ปี 2019 และจะทยอยก่อสร้างเสร็จทั้งโครงการ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบตามสัญญาซื้อขายได้ทั้งหมดภายในปี 2022 ส่งผลให้ SCN ก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดหนึ่งในรายที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าโครงการนี้จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 10%
กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCN กล่าวว่า บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นในการดำเนินโครงการดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ โดยได้ดำเนินการปิดความเสี่ยงในทุกด้านที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น การทำโปรเจคไฟแนนซ์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย และประกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง