เมื่อธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมโยงเข้ามาเสมอ มักจะหนีไม่พ้นภาวะเงินเฟ้อเร่งตัว ค่าจ้าง ราคาสินค้าและบริการ รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตต่อเนื่องจนอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านเสถียรภาพในอนาคตข้างหน้า วันนี้เราจะพูดถึงทิศทางดอกเบี้ยไทยจากมุมมองของตลาดกันนะคะ
นับตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปี 2561 ตลาดดอกเบี้ยสกุลเงินบาทไม่ได้ล้อไปกับการปรับสมดุลนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แต่อย่างใด นั่นคือ ขณะที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 6 ครั้ง ในวัฎจักรนี้ จนแซงหน้าดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี (ภาพประกอบ) อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ของไทยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางสภาพคล่องส่วนเกินที่ยังมีอยู่มาก เม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อซึ่งฟื้นตัวอย่างไม่ชัดเจนนัก รวมถึงการคาดการณ์ในวงกว้างที่ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อไปในอนาคตอันใกล้
อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มต้นไตรมาสสอง ภาพของตลาดดอกเบี้ยเริ่มเปลี่ยนไป ผู้เล่นต่างชาติทยอยปรับสถานะการลงทุน ตลาดในประเทศขานรับกระแสดอกเบี้ยขาขึ้น สอดคล้องกับตลาดโลกมากขึ้น ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยช่วงอายุ 5 ปี ปรับขึ้นมายืนเหนือระดับ 2.05% ในเดือนนี้ เทียบกับระดับ 1.83% ณ สิ้นไตรมาสหนึ่ง
ประเด็นแรกที่เราให้ความสนใจ คือ แรงส่งเชิงบวกของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยจีดีพีของไทยในไตรมาส 1/2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ 2.0% เมื่อเทียบรายไตรมาส คุณภาพของการเติบโตถือว่ากระจายตัวมากขึ้นจากแรงขับเคลื่อนหลักของภาคส่งออกและท่องเที่ยวสู่การบริโภคและการลงทุนในประเทศ ประเด็นที่สอง ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ซึ่งในเดือนเมษายน สามารถกลับเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายของกนง.ที่ 1.00-4.00% ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยสี่เดือนแรกของปีนี้ที่ 0.75% นับว่ายังต่ำอยู่มาก ในทางกลับกัน อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง หรือ อัตราผลตอบแทนที่หักเงินเฟ้อแล้ว ถือว่าไม่ได้ต่ำเกินไปนัก
อีกทั้งในปัจจุบัน ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่จะผลักดันเงินเฟ้อให้ดีดตัวขึ้นอย่างรุนแรงมีค่อนข้างจำกัด โดยเงินเฟ้อด้านต้นทุนพลังงาน พบว่า Shale Oil หรือน้ำมันหิน ซึ่งการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะมีบทบาทในการสกัดกั้นการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ E-commerce ช่วยควบคุมราคาสินค้าผ่านกลไกการแข่งขัน ส่วนเงินเฟ้อด้านอุปสงค์นั้น ภาวะสังคมสูงวัยมีส่วนกระตุ้นการออมมากขึ้นเพื่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพหลังเกษียณ
เราประเมินว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะชันขึ้นต่อไปในระยะนี้ ท่ามกลางการออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ อนึ่ง เราคาดว่ากนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.75% ก่อนสิ้นปีนี้ แม้กนง.ได้เน้นย้ำว่าจะให้น้ำหนักกับปัจจัยในประเทศเป็นสำคัญ แต่เราเชื่อว่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงบ้างจากกระแสเงินทุนไหลออก การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วในปีนี้ของธนาคารกลางในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย น่าจะช่วยให้ทางการไทยตัดสินใจง่ายขึ้นในระยะถัดไปกรณีเศรษฐกิจสามารถรักษาแรงส่งเชิงบวกได้ต่อเนื่อง
โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com