IFS ยอดธุรกรรมแฟกตอริ่งพุ่ง ลุ้นผลบวกมาตรฐานบัญชีใหม่

291

มิติหุ้น – IFS ผลงานปี 2561 เติบโตสดใส คาดปริมาณธุรกรรมแฟกตอริ่งแตะระดับ 3.5-3.6 หมื่นล้านบาท พร้อมลุ้นผลบวกการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ส่งผลให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น ประเมินกำไรปี 61-62 โต 5% และ 11%  

 

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า แนวโน้มผลประกอบการของบมจ.ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) หรือ IFS งวดไตรมาส 2/2561 มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2561 ที่มีกำไรสุทธิ 37.84 ล้านบาท โดยแหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ยอดธุรกรรมแฟกตอริ่งในช่วงไตรมาส 2/2561 มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากกว่าไตรมาสแรกที่เติบโตเพียง 1% เนื่องจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มภาคการบริการและท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคในประเทศ

ธุรกรรมแฟกตอริ่งสูง3.6หมื่นล.

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจของ IFS ในปี 2561 คาดว่าปริมาณธุรกรรมแฟกตอริ่งมีโอกาสทำได้อย่างน้อย 3.5-3.6 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่ปริมาณธุรกรรมแฟกตอริ่งอยู่ที่ราว 2.9-3 หมื่นล้านบาท โดย IFS ยังคงเน้นในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงและอัตรากำไรเป็นหลัก ซึ่งในปีนี้ IFS น่าจะได้รับอานิสงส์จากการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 เพราะจะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ยากขึ้น และเป็นโอกาสที่กลุ่มนอน-แบงก์จะขยายฐานลูกค้าใหม่ๆเพิ่มเติม

“ประเด็นเรื่อง IFRS9 น่าจะส่งผลดีต่อพวกนอน-แบงก์ เพราะถึงแม้จะมีความต้องการให้เลื่อนใช้ IFRS9 ไปก่อน แต่ดูเหมือนว่าแบงก์ชาติต้องการให้เริ่มใช้ทันที เพราะแบงก์พาณิชย์ส่วนใหญ่มีความพร้อมอยู่แล้ว และแบงก์ชาติคงไม่ได้สนใจพวกนอน-แบงก์เล็กๆ ซึ่งหากบังคับใช้ IFRS9 จริงจะทำให้ลูกค้าเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น และส่งผลบวกต่อพวกนอน-แบงก์ โดยเฉพาะ IFS ที่มีลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นหลักอยู่แล้ว และน่าจะเห็นปริมาณธุรกรรมแฟกตอริ่งปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3.6 หม่นล้านบาท และอาจจะทำได้มากกว่านี้ หากไม่มีเรื่อง NPL เข้ามากระทบ” แหล่งข่าว กล่าว

ประเมินราคาเป้าหมาย3.54บาท

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำ”ซื้อ” IFS ราคาเป้าหมาย 3.54 บาท โดยภาพรวมธุรกิจปี 2561 ยังเดินหน้าเติบโตตามเป้าหมายมูลหนี้แฟคตอริ่งรับซื้อที่กำหนด แต่ยังมีความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อการเร่งตัวของค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ รองรับเกณฑ์ TFRS 9 โดยฝ่ายวิจัยได้เพิ่มสมมติฐานค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ และ credit cost ตามหลักระมัดระวัง เพื่อรองรับหลักเกณฑ์ TFRS 9 ที่จะเริ่มใช้ในปี 2562

นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดสมมติฐานสเปรดลง โดยเป็นการปรับลดทั้งอัตราผลตอบแทนและต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายลง เพื่อสะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2560 และต่อเนื่องในปี 2561-62 ซึ่งคาดกำไรสุทธิปี 2561-2562 ของ IFS เติบโต 4.9% และ 11.4% ตามลำดับ โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากความต้องการสินเชื่อแฟคตอริ่งภาคเอกชนที่เป็นลูกค้าหลัก ภายใต้เป้าหมายมูลค่ารับซื้อของลูกหนี้การค้าสำหรับธุรกิจแฟคตอริ่งปี 2561 เติบโตต่อเนื่องอีกราว 10-15%

www.mitihoon.com