กบง.ตรึงราคา LPG ที่ 363 บาท/ถัง 15 กก. ถึงสิ้นปี หนุนกลุ่มหาบเร่ แผงลอย พร้อมเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่ม 37 สตางค์ต่อลิตร ส่วนโซลาร์ลอยน้ำ 1 พันเมกะวัตต์ ทยอยลงทุน

149

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า กระทรวงพลังงาน โดยนายทวารัฐ  สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันที่ 8 มิ.ย. 61 ได้มีมติเห็นชอบตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ขนาดถัง 15 กก. ที่ระดับราคา 363 บาทต่อถัง และต่ออายุสัญญาโครงการราคา LPG ให้แก่ผู้ประกอบการอาชีพขายอาหารขนาดเล็ก

โดยลดราคาจาก 363 บาทต่อถัง เป็น 325 บาทต่อถัง จนไปถึง 31 ธ.ค.2561 โดยมีจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ ครัวเรือนรายได้น้อย 7,569,867 ครัวเรือน ร้านค้าหาบเร่ 395,544 ร้าน เป็นเงินเดือนละ 49 ล้านบาท ซึ่ง ปตท. เป็นผู้ชดเชยส่วนราคานี้

พร้อมกันนี้ กบง.ยังมีมติให้เรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของน้ำมันเบนซิน, แก๊สโซฮอล์95 และแก๊สโซฮอล์91 เข้ากองทุนฯ เพิ่ม 37 สตางค์ต่อลิตร และให้ลดการชดเชยราคาน้ำมัน E20 และ E85 ลง 37 สตางค์ต่อลิตร เพื่อดูแลสถานะของกองทุนฯ ที่ปัจจุบันมีเงินคงเหลือสุทธิ 30,376 ล้านบาท ให้สามารถดูแลเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรได้จนถึงสิ้นปีนี้ และยังเป็นการทยอยเงินไหลออกในส่วนของกลุ่มเบนซินที่ยังมีการชดเชย E20 และ E85 ราวเดือนละ 341 ล้านบาท

นอกจากนี้ กบง.ยังมีมติสนับสนุนการผลิตและใช้น้ำมันดีเซลที่มีสัดส่วนไบโอดีเซลไม่เกินร้อยละ 20 (B20) ให้มีราคาต่ำ (ถูกกว่า B7 3 บาทต่อลิตร) เพื่อให้ช่วยลดภาระต้นทุนค่าบริการขนส่งและค่าโดยสารสาธารณะ จึงมีมติให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง พิจารณาลดอัตราเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซล (B20) ลงเหลือ 5.1523 บาทต่อลิตร

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรับทราบแนวทางการดำเนินโครงการระบบโซลาร์ลอยน้ำ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก เป็นความร่วมมือระหว่าง  กฟผ. กับบริษัท SCG เคมิคอลส์ จำกัด นำร่องโครงการพัฒนาระบบทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงโดยวิศวกรไทย เพื่อใช้เป็นต้นแบบของการผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่างเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับไฟฟ้าจากเขื่อน มีกำลังผลิต 500 กิโลวัตต์ติดตั้งในพื้นที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ.กาญจนบุรีคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จเดือน ธ.ค.2561

ระยะที่ 2 เป็นการต่อยอดโดยการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (Economic Scale Pilot Solar Floating Project)  เพื่อต่อยอดผลการวิจัยและพัฒนา โดยใช้ระบบเชื่อมต่อที่มีอยู่เดิมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ 450 ไร่ และจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 89.53 ล้านหน่วยต่อปี

ส่วนระยะที่ 3 กำหนดติดตั้งในพื้นที่ 11 เขื่อนทั่วประเทศไทย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รวมกำลังการผลิตขนาดกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ โดยในระยะที่ 3 นี้ ต้องรอความชัดเจนของแผน PDP ก่อน คาดว่าจะจัดทำแล้วเสร็จเดือนก.ย.นี้ จึงจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

www.mitihoon.com