ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC โดยนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทขอแจ้งว่าจะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740-1785 /1835-1880 MHz ที่กำหนดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบคำขอรับใบอนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ภายในวันที่ 15 มิ.ย.2561 โดยกำหนดวันประมูลเป็นวันที่ 4 ส.ค.2561
ทั้งนี้ บริษัทแจงเหตุไม่ยื่นประมูลคลื่น 1800 MHz ยันถือครองคลื่นมากพอรองรับการใช้งานดาต้าที่เติบโตขึ้นในอนาคต พร้อมมีแผนคุมครองลูกค้า โดยรายละเอียดได้แก่ ดีแทคได้พิจารณาการเข้าร่วมประมูลอย่างรอบคอบ โดยมีข้อสรุปถึงการถือครองคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) มีปริมาณมากพอที่จะรองรับการใช้งานดาต้าที่เติบโตขึ้นในอนาคต
โดยการประมูลในครั้งนี้คงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทฯ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว ดีแทคมั่นใจในการให้บริการอย่างต่อเนื่องจากจำนวนคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ถือครองมากพอที่จะรองรับการเติบโตการใช้งานดาต้าของลูกค้า และเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการคุ้มครองลูกค้าเพื่อไม่กระทบการใช้งานจากกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่”
ปัจจุบันนี้ ดีแทคได้ถือครองความถี่ย่าน 2100 MHz จำนวน 2×15 MHz และมีคลื่นใหม่ความถี่ 2300 MHz จำนวน 1x60MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่เดียวที่กว้างที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถ้าหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยาแล้ว ดีแทคยังมีคลื่นย่านความถี่สูงเพิ่มมากกว่าอีกเดิม 10 MHz จากคลื่นใหม่ 2300 MHz ที่จะนำมาให้บริการสำหรับคลื่นย่านความถี่สูงอย่างพอเพียง
ขณะที่คลื่น 2300 MHz ได้ถูกนำมาให้บริการ 4G TDD เพื่อตอบสนองการใช้งานดาต้าที่เน้นการดาวน์โหลด สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่หันมานิยมการรับชมวิดีโอผ่านสมาร์ทโฟนจำนวนหลายชั่วโมงต่อวัน ถึงแม้ว่าดีแทคจะสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ดีแทคยังมีปริมาณคลื่นความถี่ที่จะให้บริการต่อจำนวนลูกค้ามากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น (ดีแทคมีจำนวนคลื่นเฉลี่ย 2.75 MHz ต่อจำนวนลูกค้า 1 ล้านราย ในขณะผู้ให้บริการรายอื่นมีจำนวน 1.37 MHz และ 1.99 MHz)
สำหรับแผนความคุ้มครองลูกค้าในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานดังกล่าวที่ยื่นต่อ กสทช. เพื่อให้ลูกค้าดีแทคที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม จะต้องได้รับความคุ้มครองและไม่กระทบการใช้งานตามที่เคยมีกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่กับผู้ให้บริการรายอื่น และยังมีลูกค้าคงค้างในระบบเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่หมดสัมปทานได้รับระยะเวลา 9-26 เดือนในช่วงเยียวยา ซึ่งได้สิ้นสุดเมื่อผู้ชนะการประมูลคลื่นได้ทำตามหลักเกณฑ์และเปิดใช้งานคลื่น ดีแทคยืนยันที่ลูกค้าจะต้องได้รับการคุ้มครองตามประกาศ กสทช. คลื่น 1800 MHz ควรนำมาสู่การใช้งานสำหรับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานจนกระทั่งผู้ชนะการประมูลได้ทำตามกฎเกณฑ์และเปิดให้บริการวันแรก สำหรับคลื่น 850 MHz ที่ไม่ได้นำไปประมูลดีแทคจะต้องได้รับสิทธิ์จนกระทั่งคลื่นได้ถูกนำไปจัดสรรให้กับผู้ได้รับอนุญาตใช้งานต่อไป
www.mitihoon.com