ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 62 – 67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 71 – 76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (18 – 22 มิ.ย. 61) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ท่ามกลางความวิตกของตลาดต่อท่าทีของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันนำโดยกลุ่มโอเปกและรัสเซีย ที่อาจพิจารณาปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานน้ำมันที่ขาดหายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา ในการประชุมโอเปกที่จะจัดขึ้นวันที่ 22 – 23 มิ.ย. นี้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำดิบและปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาที่มีแนวโน้มปรับลดลง หลังประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวแข็งแกร่ง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ติดตามการประชุมโอเปกที่จะจัดขึ้นวันที่ 22 – 23 มิ.ย. นี้ ณ กรุงเวียนนา ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกจะทบทวนนโยบายการผลิต และตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการผลิตน้ำมันดิบ รวมทั้งต้องจับตาว่าผู้ผลิตจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อชดเชยกับอุปทานน้ำมันดิบที่ขาดหายไปจากเวเนซุเอลา และปริมาณการส่งออกของอิหร่านที่อาจลดลงหลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรหรือไม่ อย่างไรก็ดี ล่าสุดแหล่งข่าวอย่างไม่เป็นทางการรายงานว่าซาอุดิอาระเบียและรัสเซียได้เริ่มปรับเพิ่มกำลังการผลิต ขณะที่รัสเซียจะเสนอปรับเพิ่มกำลังการผลิตให้กลับมาสู่ระดับเดียวกันกับเดือน ต.ค. 59 ในการประชุมโอเปกที่จะถึงนี้
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือระดับต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ รายสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 8 มิ.ย. อยู่ที่ระดับ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่า 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้ปรับลดการคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวราว 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับเฉลี่ย 11.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าที่คาดไว้ในรายงานของเดือนก่อนหน้า
- ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จัดเป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 1 ปี ซึ่งอาจโน้มน้าวให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะปรับเพิ่มการส่งออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น โดยล่าสุด EIA รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ากว่า 181% อย่างไรก็ดี ล่าสุดการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกยังคงเผชิญกับข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการส่งออกและความสามารถในการขนส่งน้ำมันดิบทางท่อ ซึ่งจำกัดให้ปริมาณการส่งออกยังอยู่ในปริมาณที่จำกัด
- ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับลดลง หลังประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งได้ส่งผลกระทบให้ขาดเงินลงทุนที่จะมาจุนเจืออุตสาหกรรมน้ำมัน โดยล่าสุดบริษัทน้ำมันแห่งชาติเวเนซุเอลา (PDVSA) กำลังเผชิญกับปัญหาในการผลิตน้ำมันดิบ รวมทั้งปัญหาในการส่งมอบน้ำมันดิบแก่ผู้ซื้อที่ล่าช้า ส่งผลให้ล่าสุดเรือขนส่งน้ำมันกว่า 70 ลำ ที่รอขนส่งน้ำมันราว 23 ล้านบาร์เรลต้องชะงัก นอกจากนี้ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประเมินว่าอุปทานน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลา และอิหร่านมีแนวโน้มปรับลดลงอีก 30% ภายในปีหน้า เนื่องจากถูกกดดันจากปัญหาทางเศรษฐกิจและการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ
- ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยล่าสุด IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี 2562 จะขยายตัวราว4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 100 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของความต้องการใช้น้ำมันยังเผชิญกับความเสี่ยงที่ผู้บริโภคอาจใช้น้ำมันน้อยลง หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจโลกจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้า และส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ (Housing starts) ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) และจำนวนผู้รับสวัสดิการว่างครั้งแรกของสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีภาคการผลิตของยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 11 – 15 มิ.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.38เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและรัสเซียจะเพิ่มกำลังการผลิตราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในอิหร่าน และเวเนซุเอลา ประกอบกับอุปสงค์จากจีนที่อ่อนตัวลง หลังโรงกลั่นน้ำมันในจีนเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนปรับลดการลงทุนในตลาดน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ รวมทั้งปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงจากความต้องการใช้น้ามันเบนซินที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์
www.mitihoon.com