สนพ. ศึกษารูปแบบการลงทุนสมาร์ทกริด เปิดโอกาสเอกชนเข้าร่วมใน 3 รูปแบบ เผย บจ.รายใหญ่ด้านพลังงาน สนใจเพียบ

241

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน โดยนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ  เปิดเผยว่า สนพ. อยู่ในระหว่างปรับปรุงแผนแม่บทพัฒนาโครงข่ายสมาร์ทกริดเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานและเทคโนโลยีใหม่

เบื้องต้น การลงทุนจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ ไมโครกริดชุมชนที่อยู่ห้างไกลหรือไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ระบบบสมาร์ทกริดในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ระบบสมาร์ทกริดที่เชื่อมกับระบบสายส่งของการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งใน 3 รูปแบบนี้อยู่ระหว่างการศึกษาอยู่ว่าจะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนอย่างไร หรือภาครัฐจะลงทุนเอง

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในปี2560 พบว่า ประเทศไทยมีครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่ที่ 33,656 ครัวเรือน ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ 24,652 ครัวเรือนที่รอจัดเข้าโครงการขยายสายส่ง แต่ยังเหลืออีก 7,114 ครัวเรือน ที่ติดปัญหาพื้นที่ป่าสงวน และพื้นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งไม่สามารถลากสายไฟฟ้าเข้าไปได้ ดังนั้น พื้นที่เหล่านี้อาจจะพิจารณาเรื่องการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับด้วยระบบไมโครกริด ระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage) เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาต้นทุนการลงทุนทั้งระบบนั้น ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2 แสนบาทต่อครัวเรือนสำหรับการลงทุนในชุมชนพื้นที่ห้างไกล ส่วนการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนั้นยังได้ศึกษาถึงต้นทุนการลงทุน

“รูปแบบการลงทุนระบบไมโครกริด และสมาร์ทกริดที่เหมาะสมนั้น ยังต้องศึกษารายละเอียดอีกระยะ ทั้งขนาดของระบบ และลักษณะของการลงทุนที่มีได้หลายรูปแบบ เช่น รัฐลงทุนเองทั้งหมด,เอกชนลงทุนเองทุนหมด หรือ รัฐลงทุนร่วมกับเอกชน รวมถึงการเปิดให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วมในการลงทุนด้วยซึ่งก็พยายามเร่งศึกษาให้แล้วเสร็จทันแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ พีดีพีใหม่” นายทวารัฐ กล่าว

ปัจจุบัน กระทรวงพลังงาน กฟผ.และกฟภ.อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนนำร่องลงทุนระบบสมาร์ทกริดที่เหมาะสมกับประเทศไทย ตามแผนแม่บทฯ ปัจจุบัน กำหนดว่าในปี 2564 จะต้องมีการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดนำร่อง 3-5 พื้นที่ ซึ่งปัจจุบัน การไฟฟ้าได้ทดลองทำแล้วในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และพื้นที่ อ.พัทยา จ.ชลบุรี อยู่ระหว่างดำเนินการลงทุน

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับโครงการลงทุนพัฒนาระบบสมาร์ทกริดนั้น มีเอกชนหลายรายที่สนใจในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น บมจ.บ้านปู หรือ BANPU บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนิร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF เป็น โดยสนใจทั้งการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และร่วมลงทุนในพื้นที่ชุมชนแต่อยู่ระหว่างความชัดเจนแผนการพัฒนาของภาครัฐ และรูปแบบการลงทุน

www.mitihoon.com