– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดมากกว่า 2% จากตลาดคาดว่าโอเปกจะตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ เพื่อชดเชยอุปทานที่ปรับลดลงจากอิหร่านและเวเนซุเอลา ในการหารือของที่ประชุมกลุ่มโอเปกวันที่ 22-23 มิ.ย. นี้
– นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียให้สัมภาษณ์ว่าควรมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อให้ตลาดเกิดความสมดุล โดยปริมาณการผลิตเพิ่มที่เหมาะสมอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของอิหร่านให้ความเห็นว่าโอเปกจะยังไม่สามารถหาข้อสรุปในการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ โดยจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มโอเปกก่อนตัดสินใจและร่วมมือกับรัสเซีย
– นักวิเคราะห์คาดกลุ่มโอเปกและรัสเซียจะสามารถหาข้อสรุปของการเพิ่มกำลังการผลิตได้และส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยปรับเพิ่มราว 0.5 – 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+ Genscape รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 มิ.ย. 2561 ปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล ช่วยคลายความกังวลเรื่องปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นจะมากกว่าความต้องการใช้น้ำมัน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่เบาบางในภูมิภาค ประกอบกับได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันเบนซินจากประเทศจีนและอินเดีย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้ที่ลดลงในภูมิภาค ประกอบกับการผลิตน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่นและการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากประเทศอินเดีย
- ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในการประชุมของกลุ่มโอเปกวันที่ 22-23 มิ.ย. ปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ตกลงปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับอุปทานน้ำมันดิบที่หายไปจากเวเนซุเอลา และอิหร่านที่ปริมาณการผลิตและส่งออกคาดจะปรับลดลงหลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือระดับต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2562 จะขยายตัวราว 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับเฉลี่ย 11.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 1 ปี อาจโน้มน้าวให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะปรับเพิ่มการส่งออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น