มิติหุ้น- กฟผ. จัดสัมมนาสื่อมวลชน สร้างความรู้ความเข้าใจระบบไฟฟ้าไทยในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองได้รวดเร็ว แนะจับคู่พลังงานหมุนเวียนกับเชื้อเพลิงหลักเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า
วันนี้ (25 มิถุนายน 2561) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดสัมมนาสื่อมวลชนในหัวข้อ “เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกพลังงาน” โดยนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ. เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับสื่อมวลชน ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว
รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กล่าวว่า ระบบไฟฟ้าไทยในปัจจุบันเป็นระบบแบบรวมศูนย์ คือ มีโรงไฟฟ้า ระบบส่งขนาดใหญ่ และระบบจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ในอนาคตจะมีกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าและ ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าไปสู่ชุมชน รวมถึงมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น การเดินหน้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกต้องรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน คือ การสร้างความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าต้องมีความยืดหยุ่น สามารถเริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็ว ส่วนในระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าจะต้องพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid ทำงานผ่านรีโมทมอนิเตอร์ (Remote Monitor) สามารถเรียกดูข้อมูลและสั่งการจากศูนย์ควบคุมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที ต้องบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานภายนอกทำให้สามารถคาดเดาหรือพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตได้ ส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องความไม่เสถียร ควรพัฒนาในรูปแบบของการผสมผสานระหว่างพลังงานหมุนเวียนกับเชื้อเพลิงหลัก (RE Hybrid Firm) เพื่อลดความผันผวน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามระยะเวลาสัญญาที่กำหนด เช่น โซลาร์เซลล์กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานลมกับเซลล์เชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวมวลกับโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะกลายเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในอนาคต ควบคู่กับการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานเพื่อช่วยให้การจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพ ซึ่ง กฟผ. ได้นำร่องโครงการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานแล้วจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ขนาด 4 เมกะวัตต์ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และสถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์-ชั่วโมง
การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมต่อประเทศชาติและประชาชน โดยคำนึงถึงความสมดุล มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงแต่มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับภาพรวมของสังคมไทย สามารถบริหารจัดการโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้ผลิต ประชาชน และหน่วยงานกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีค่าไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน