ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า โดยนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เตรียมเสนอคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(บอร์ด กฟผ.) ในเร็วนี้ๆ พิจารณาอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่(โซลาร์ลอยน้ำ) ของ กฟผ. ระยะที่2 จะติดตั้งในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดประมูลเป็นการทั่วไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ได้เงื่อนไขและเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ทั้งการเปิดประมูลแยกอุปกรณ์ เช่น หาผู้รับเหมาติดตั้งแผงโซลาร์ และผู้ติดตั้งทุ่นลอยน้ำ หรือจะเปิดประมูลรวมกัน เป็นต้น
โดยยืนยันว่า โครงการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต เพราะจะต้องมีต้นทุนผลิตไฟฟ้าไม่สูงกว่าราคาขายส่ง หรือ ไม่สูงกว่า 2.44 บาทต่อหน่วย
ส่วนโครงการโซลาร์ลอยน้ำ ระยะที่1 ที่ กฟผ. กับเครือเอสซีจี จะนำร่องโครงการขนาดกำลังผลิต ราว 250-500 กิโลวัตต์ ติดตั้งที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ. กาญจนบุรี นั้น จะมีการลงนามความร่วมมือกับเครือเอสซีจีในเร็วๆนี้เช่นกัน ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จในเดือนธ.ค.นี้
ทั้งนี้ แผนการลงทุนดังกล่าว หากผ่านการอนุมัติจากบอร์ด กฟผ.แล้ว จะต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบต่อไป จึงจะเริ่มดำเนินการได้
นางโศภชา ดำรงปิยวุฒิ ประธานกรรมการบริหารบมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL สนใจลงทุนโครงการโซลาร์ลอยน้ำ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากมีเทคโนโลยีในการติดตั้งอยู่แล้ว และยังเคยติดตั้งให้กับ กฟผ.บนเขื่อนสิรินธร
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น หรือ SUPER กล่าวว่า หาก กฟผ.เปิดให้ประมูลร่วมลงทุนโครงการโซลาร์ลอยน้ำก็พร้อมที่จะเข้าประมูลเช่นกัน ซึ่งโซลาร์ลอยน้ำ SUPER ก็มีการลงทุนอยู่แล้วในโรงงานผลิตน้ำปะปาแห่งหนึ่ง
นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเอนร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF กล่าวว่า หากเป็นการร่วมลงทุนก็สนใจที่จะเข้าประมูล โดยกฟผ.เปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมประมูลในระยะที่2 จำนวน 45 เมกะวัตต์ ส่วนระยะที่3 จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ GULF กับมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี
www.mitihoon.com