กลุ่มบริษัทเอกชนผู้ประกอบผลิตไฟฟ้าในไทย เฝ้ารอลุ้นแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ว่าจะมีการส่งเสริมลงทุนการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใดบ้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.2561
ระหว่างรอแผนแล้วเสร็จ กลุ่มผู้ประกอบการเอกชนทั้งรายย่อย รายใหญ่ ต่างก็หันเข้าไปศึกษาขยายการลงทุนในต่างประเทศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลงทุนในประเทศญี่ปุ่น จีน และในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตต่อไป
อีกหนทางหนึ่งของเอกชนกับจังหวะที่รอแผน PDP ชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้หันไปลงทุนในรูปแบบ PPA Private หรือการลงทุนผลิตไฟฟ้าขายให้เอกชนโดยตรง ซึ่งทุกบริษัทเริ่มมาแนวนี้กันหมด
ขณะที่นโยบายพลังงานไฟฟ้าในประเทศเพื่อความมั่นคงก่อนหน้านั้น “นายศิริ จิระพงษ์พันธ์” รมว.พลังงาน ได้ประกาศเตรียมจัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ปริมาณ 260-300 เมกะวัตต์ โดยผ่านการจัดตั้งหน่วยใหม่ Regional Power System หรือ RPS ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ทำหน้าที่บริหารจัดการไฟฟ้าในพื้นที่ ตั้งแต่การผลิต รับซื้อ จำหน่าย จัดส่งไฟฟ้า และควบคุมระบบไฟฟ้า
โครงการนี้ จะเป็นโอกาสเล็กๆ ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนได้บ้างแต่ไม่เพียงพอกับการแบ่งสัดส่วนการลงทุนให้ทั่วกัน
หากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จ ภาคใต้ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล และไม่ต้องสร้างคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FSRU) เพื่อนำเข้า LNG หากเป็นไปตามแผน เท่ากับว่าดับฝัน บมจ.ปตท. หรือ PTT ที่มีแผนลงทุนสร้างคลัง LNG ลอยน้ำในพื้นที่ภาคใต้เลยทีเดียว ต้องมาติดตามว่า PTT จะว่าอย่างไร
นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดทำแผนโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นหลัก แล้วนำกำลังผลิตในส่วนที่เหลือใช้ออกมาขายให้กับเอกชนได้ แต่จะต้องมีการนำระบบสมาร์ทกริดและระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เข้ามาใช้รองรับ แต่อัตราค่าไฟฟ้าจะต้องไม่แพงไปกว่าราคาขายปลีกไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 3.60 บาทต่อหน่วย
ไม่รู้ว่าจะเป็นโอกาสที่เอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ได้หรือไม่ ทั้งในระบบกักเก็บพลังงาน และโอกาสเข้าไปติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ประชาชน เพราะกังวลจะไม่คุ้มค่าการลงทุน เอกชนรายเล็ก รายใหญ่ถามใจตัวเองดู
“บิ๊กเซ็ต”