บริษัทในเอเชียแปซิฟิกครองแชมป์ทางด้านดิจิทัล

252

มิติหุ้น-บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตในเอเชียแปซิฟิกครองแชมป์ทางด้านดิจิทัล ผู้ประกอบอุตสาหกรรมการผลิตในเอเชีย ทิ้งห่างทวีปอเมริกา และยุโรปตอ.กลางแอฟริกา

PwC เผยบริษัทผู้ประกอบอุตสาหกรรมการผลิตในทวีปเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้ชนะเลิศทางด้านดิจิทัล หรือ แชมป์ในการเปลี่ยนถ่ายองค์กรสู่ดิจิทัล โดยเป็นผู้นำในการปฏิวัติองค์กรตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ ไปจนถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านดิจิทัลใหม่ๆ แถมยังเชื่อมต่อเทคโนโลยีเข้ากับหน่วยงานต่างๆ ทั่วทั้งองค์กรได้รวดเร็วกว่าบริษัทในทวีปอื่น และคาดช่องว่างจะยิ่งกว้างขึ้น ขณะที่ 32% ของบริษัทในเอเชียมีแผนที่จะจัดตั้งระบบนิเวศทางดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าในอีก 5 ปีข้างหน้า เทียบกับบริษัทในทวีปอเมริกาที่ 24% และบริษัทในทวีปยุโรป-ตอ.กลาง-แอฟริกาที่ 15%

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ Digital Champions: How industry leaders build integrated operations ecosystems to deliver end-to-end customer solutions ที่จัดทำโดย Strategy& ของ PwC โดยรายงานได้ทำการสำรวจผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนทั้งสิ้น 1,155 รายใน 26 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับมุมมองของการปฏิบัติการด้านดิจิทัลและการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทั้งนี้ PwC ได้พัฒนาดัชนีชี้วัดความเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัลที่เรียกว่า ‘ผู้ชนะเลิศทางด้านดิจิทัล’ (Digital Champions) และหาว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทเหล่านี้มีความสามารถเหนือกว่าคู่แข่ง

รายงาน พบว่า 19% ของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตในทวีปเอเชียถูกจัดให้มีสถานะเป็นผู้ชนะเลิศทางด้านดิจิทัล เปรียบเทียบกับผู้ประกอบการในทวีปอเมริกาที่ 11% และผู้ประกอบการในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาที่ 5%

นางสาว วิไลพร กล่าวว่า สาเหตุสำคัญเป็นเพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการใช้เทคโนโลยีอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก และยังหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกันมากขึ้น นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้น ยังเป็นแรงกดดันให้บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตในเอเชียแปซิฟิกต้องเร่งทำการเปลี่ยนถ่ายระบบการปฏิบัติการไปสู่ดิจิทัลในระดับที่รวดเร็วกว่าที่อื่นๆ ในโลก

รายงานชี้ว่า ขณะที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กำลังเปลี่ยนถ่ายอุตสาหกรรมการผลิตอย่างรวดเร็ว มีบริษัทเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากการปฏิวัติดังกล่าว โดยมีบริษัทผู้ประกอบอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกเพียง 10% เท่านั้นที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ผู้ชนะเลิศทางด้านดิจิทัล ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีมุมมองกว้างไกลและเชื่อในเรื่องของการประยุกต์ใช้นวัตกรรม โดยมองว่า ไม่ใช่แค่เรื่องของระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อเครือข่ายเท่านั้น

หนทางสู่ความเป็นดิจิทัลของบริษัทในกลุ่มประเทศยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกายังคงล้าหลัง

เป็นที่ทราบกันดีว่า การแปลงองค์กรไปสู่ดิจิทัลจะช่วยเพิ่มอัตราการผลิตในตลาดที่พัฒนาแล้ว เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ยังช่วยให้บริษัทสามารถลดการพึ่งพาการเก็งกำไรของแรงงานลง  อย่างไรก็ตาม บริษัทในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ส่วนใหญ่กลับยังมีความสามารถในการบริหารห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการอยู่ไม่เกินระดับกลาง และยังขาดการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติขั้นสูง รวมทั้งการเชื่อมต่อกับกระบวนการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในทวีปเอเชียแปซิฟิก โดยรายงานพบว่า บริษัทที่อยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ยังคงล้มเหลวในการเชื่อมโยงกลยุทธ์ และความสามารถในการปฏิบัติงาน เทคโนโลยี และกำลังคนเข้าด้วยกัน อีกทั้งในโมเดลธุรกิจยังไร้พันธมิตรหรือคู่ค้าทางธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า

ทั้งนี้ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ และระบบนิเวศดิจิทัลของบริษัทในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ที่ความสามารถทางด้านดิจิทัลยังคงตามหลังกลุ่มประเทศอื่นๆอยู่ คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ทางด้านดิจิทัลให้เติบโตได้ 12.7% ในอีก 5 ปีข้างหน้า เปรียบเทียบกับบริษัทในเอเชียที่คาดว่า การลงทุนจะส่งผลให้รายได้ทางด้านดิจิทัลโตถึง 16.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ดร. เรนฮาร์ด ไจบาเออร์ หุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า “บริษัทในเอเชียมีความก้าวหน้ากว่าบริษัทในฝั่งตะวันตกมาก เพราะได้เปรียบทั้งในเรื่องของการจัดตั้งการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมตั้งแต่ระบบอัตโนมัติของโรงงาน เครือข่ายสารสนเทศภายในองค์กร และกำลังคน ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาของระบบดั้งเดิมที่ซับซ้อนควรต้องโละทิ้ง หรือต้องการการบรูณาการอย่างมาก นอกจากนี้ บริษัทในเอเชียยังค่อนข้างกระตือรือร้นในการทดลองรูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านนวัตกรรมในเชิงสร้างสรรค์”

แชมป์ทางด้านดิจิทัลส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์

รายงานยังระบุว่า 2 ใน 3 ของบริษัทผู้ประกอบอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกแทบไม่มี หรือยังไม่ได้เริ่มเปลี่ยนถ่ายองค์กรสู่ดิจิทัลในส่วนปฏิบัติการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมกระบวนการ อุตสาหกรรมสินค้าผู้บริโภค และ อุตสาหกรรมการผลิต โดยมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่เป็นแชมป์ทางด้านดิจิทัล สิ่งที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น คือ ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องมืออุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ดิจิทัลอยู่ในระดับสูง แต่กลุ่มยานยนต์ (20%) และอิเล็กทรอนิกส์ (14%) จัดว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเด่นที่มีความก้าวหน้าทางด้านดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด โดยบริษัทในกลุ่มยานยนต์มีการพัฒนาในการเพิ่มประสิทธิภาพ มีการใช้ระบบอัตโนมัติ และเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ในขณะที่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เอง ก็อยู่แถวหน้าในเรื่องของการจัดจ้างผลิตจากภายนอก ซึ่งต้องการการเชื่อมต่อและบริหารระบบที่ต่างกัน รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า

นาย สเตฟาน ชเราฟ์ หุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า “เหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทในกลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อยู่เหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรมอื่นได้ เพราะพวกเขามีความสามารถในการบริหารองค์ประกอบด้านซัพพลายเชนแบบบูรณาการและมีการวางแผนที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่งหลายทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีการพัฒนาไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ เร่งผลผลิต ลดค่าใช้จ่าย และชดใช้เงินทุนหมุนเวียน ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้ง ยังมองหาวิธีการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของบริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์เอง ก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับซัพพลายเออร์และมีการทำสัญญาจ้างผลิตจากภายนอกบ่อยครั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ในระยะสั้น”

 

เลือกเชื่อมต่อเทคโนโลยีให้ตรงจุด ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

รายงานชี้ว่า ที่ผ่านมา มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้อย่างแพร่หลาย แต่มีเพียงแชมป์ทางด้านดิจิทัลเท่านั้น ที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อเชื่อมต่อการทำงานร่วมกันได้อย่างแท้จริงทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า โดยองค์กรต่างๆ เลือกที่จะใช้วิธีการแบบองค์รวมในการเชื่อมต่อเทคโนโลยีที่จำเป็นทั่วทั้งองค์กรและมีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ แทนที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแบบโดดเดี่ยว นี่จึงช่วยให้พวกเขาสามารถประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดย 16% ของแชมป์ทางด้านดิจิทัลคาดว่า จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า เปรียบเทียบกับผู้ใช้ดิจิทัลหน้าใหม่ (Digital Novices) หรือบริษัทที่มีความสามารถทางด้านดิจิทัลน้อยที่สุดที่ 10%

ทั้งนี้ แชมป์ทางด้านดิจิทัลอย่างน้อย 90% ได้มีการประยุกต์ใช้ เริ่มที่จะนำหรือวางแผนการใช้เทคโนโลยีบางอย่างในปัจจุบันไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (97%) หรือหุ่นยนต์ขั้นสูง (90%) ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับผู้ใช้ดิจิทัลหน้าใหม่ที่มีเพียง 1 ใน 3 ที่ใช้เทคโนโลยีการปฏิบัติงานแบบทั่วไป เช่น การคาดคะเนอัตราเสื่อมของเครื่องจักร (39%) และการวางแผนห่วงโซ่อุปทาน (32%)

เมื่อพูดถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ พบว่า 1 ใน 3 ของแชมป์ทางด้านดิจิทัลมีการนำเอไอมาใช้แทนงาน ที่ทำซ้ำๆ และงานที่เกี่ยวกับกระบวนการคิด ขณะที่ 98% ของผู้ใช้ดิจิทัลหน้าใหม่ ไม่ได้มีการใช้เอไอเลย โดยรายงานพบว่า การนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเท่านั้น และแม้ว่าบริษัทต่างๆ จะเห็นถึงศักยภาพที่สำคัญของเอไอ แต่การนำมาใช้งานจริงยังมีอยู่น้อย

อย่างไรก็ดี 52% ของกลุ่มแชมป์ทางด้านดิจิทัลเองก็ยังระบุว่า พวกเขาขาดทักษะในการใช้ระบบเอไอ และหลายรายยังคงลังเลในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะไม่แน่ใจเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ได้จากระบบเอไอ ทั้งนี้ บริษัทในทวีปเอเชียยังคงเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ โดย 15% ใช้เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาสำคัญของเอไอ ขณะที่บริษัทในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกายังตามหลังอยู่ที่ 5%

มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ดิจิทัล

รายงานระบุว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่มีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่ชัดเจนที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายวัฒนธรรมองค์กรไปสู่ดิจิทัล และมีเพียง 27% เท่านั้นที่เชื่อว่า พนักงานของตนมีคุณสมบัติที่รองรับกับดิจิทัลในอนาคต ในทางตรงกันข้าม แชมป์ทางด้านดิจิทัลมากกว่า 70% บอกว่า ผู้นำองค์กรของตนมีการถ่ายทอดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและเป็นแบบอย่างให้กับคนในองค์กรในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล โดยผู้นำที่เป็นแชมป์ทางด้านดิจิทัลเหล่านี้ ยังได้มีการลงทุนอย่างมากในการพัฒนาบุคลากร และฝึกอบรมพนักงานเพื่อส่งเสริมสหสาขาวิชาชีพที่หลากหลายในการใช้นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงานทั่วทั้งองค์กร

“ในท้ายที่สุด ความสามารถของมนุษย์ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยเหลือและสนับสนุนให้องค์กรเดินไปตามกลยุทธ์ วิธีการแก้ปัญหา ผลการดำเนินงาน และการปฏิบัติการที่วางไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาขององค์กร แชมป์ทางด้านดิจิทัลจำเป็นที่จะต้องรู้จักประเมินสถานะที่เป็นอยู่ของบุคลากร รวมทั้งให้การส่งเสริมและสนับสนุนพนักงานกลุ่มที่เป็นหัวกะทิ ขณะที่ก็ต้องฝึกอบรมพนักงานกลุ่มอื่นๆ ให้รู้จักการเปลี่ยนถ่ายและปรับปรุงตัวเองทางด้านดิจิทัลเช่นกัน นอกจากนี้ ต้องเฟ้นหาพนักงานมากความสามารถใหม่ๆ เข้าสู่องค์กรมากขึ้น เพื่ออุดช่องว่างการขาดแคลนชุดทักษะและความสามารถของพนักงาน” ดร. เรนฮาร์ด กล่าว

นางสาว วิไลพร กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นกว่าในอดีต บางแห่งมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในโรงงาน เพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่อย่างไรก็ดี เรายังไม่เห็นการเชื่อมโยงดิจิทัลเข้ากับระบบนิเวศภายในองค์กรอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดความพร้อมเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของไทยจะประสบความสำเร็จได้ ถ้าหากทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าใจบทบาทของตนเองในการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนและวิจัยเทคโนโลยี รวมถึง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร”

ที่มา : บริษัท PwC ประเทศไทย

www.mitihoon.com