เมื่อความกลัว เผชิญ ความโลภ (Fear & Greed)

276

จากบทความในสัปดาห์ที่แล้ว ที่เราประเมินไว้ว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ในช่วงท้ายๆของการปรับฐาน ตามทฤษฎี Behavioral Finance ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีการรีบาวด์ขึ้นมาตามคาด จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งคือแรงซื้อจาก Trigger fund นั้นเอง เมื่อราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับลงมาจนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ (แม้ว่าจะยังมีความกลัวว่าเม็ดเงิน Fund Flow ยังคงไหลออกต่อเนื่องก็ตาม)นักลงทุนบางกลุ่มกล้าที่จะมอบเงินให้กับนักลงทุนสถาบันเพื่อเข้าซื้อหุ้นในช่วงที่ตลาดอยู่ในภาวะผันผวน จะเห็นได้ว่าเริ่มมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในตลาดฯ นักลงทุนฝ่ายแรกกลัวตลาดจะปรับฐานต่อตามแรงขายต่างชาติ – นักลงทุนอีกกลุ่มมองเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ ซึ่งการต่อสู้กันแบบนี้เราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วง 1 – 3 เดือนนี้ จนกว่าแรงขายของนักลงทุนต่างชาติจะเริ่มชะลอ ดังนั้นเราประเมินว่ากรณีที่ดัชนี SET index ไม่ปรับลงต่ำกว่า 1580 จุด จะเกิดภาพการเคลื่อนไหวแบบ Sideway ในกรอบ 1580 – 1640 จุด / แต่ในกรณีที่ดัชนี SET index ปรับลงต่ำกว่า 1550 จุด ฝั่งขายจะเป็นผู้ชนะและ SET index มีโอกาสปรับฐานลงไปสู่แนวรับ 1550 จุดได้ / ในกรณีดีที่สุดคือดัชนี SET index ดีดพ้นแนวต้าน 1640 จุดได้ เราประเมินฝั่งซื้อจะเป็นผู้ชนะ และ SET index มีโอกาส Sideway ในกรอบ 1640 – 1680 จุดได้ ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้จึงต้องลงทุนแบบระมัดระวังและกำหนดจุด Stop loss ให้ดีทั้งฝั้ง “ซื้อ” และ ฝั่ง “ขาย”

จะเห็นว่าเราไม่พูดถึงประเด็นปัจจัยสงครามการค้าที่กดดันตลาดหุ้นทั้งภูมิภาคในขณะนี้ เนื่องจากเราประเมินว่าได้ซึบซับเข้าไปในราคาหุ้นพอสมควรแล้ว ประเด็นที่มีผลต่อแนวโน้มดัชนีในช่วงนี้คือ Fund flow ที่ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) ทำให้ PE ของตลาดหุ้นกลุ่มนี้ รวมถึงไทย ถูก De-rate ลงมาต่ำกว่าระดับปกติในช่วง 3 – 5 ปีที่ผ่านมา โดยเราประเมินระดับ PE เหมาะสมของตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้ควรอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3 – 5 ปีย้อนหลังที่ ±15 เท่า ซึ่งขณะนี้ Forward PE ของ SET index ปรับลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 15 เท่าแล้ว (สมมติฐาน EPS 110 บาทต่อหุ้น จะได้ PE 14.7 เท่า) ดังนั้นระดับ PE ที่ต่ำกว่า 15 เท่า จึงเป็นระดับที่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงกล้าเข้าซื้อหุ้น

อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมตลาดระยะสั้นอาจมีแรงรีบาวด์สั้น แต่ด้วยภาพระยะกลางที่เกิดแนวโน้มขาลง (กลุ่มเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้น 3 – 15 วัน และกลุ่มเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาว 30 – 60 วัน เรียงตัวเป็นแนวโน้มขาลง) การรีบาวด์รอบนี้จึงน่าจะยังเป็นเพียงการสร้างฐานใหม่ มากกว่าการที่จะปรับแนวโน้มกลับเป็นขาขึ้นในระยะสั้น 1 – 3 เดือนข้างหน้า แต่เราประเมินว่าเพียงพอที่จะทำให้ตลาดกลับมาอยู่ในโหมดการ Sideway และสามารถเลือกเก็งกำไรเป็นรายตัวได้ และประเมินการฟื้นตัวของหุ้นขนาดใหญ่ในระยะกลางจะเป็นไปได้ช้ากว่าหุ้นขนาดกลาง – เล็ก เนื่องจากประเมินว่าจะขาดแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติ ที่เพิ่งขายหุ้นไทยไปมากกว่าแสนล้านบาทในปีนี้

ในภาวะตลาดฯผันผวน และราคาหุ้นปรับตัวลงแรงทั้งตลาด ทำให้ Valuation หุ้นหลายตัวปรับลงมาจนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ แต่เราเชื่อว่าหุ้นที่แนวโน้มกำไร 2Q61 จะเติบโต YoY, QoQ และต่างชาติถือครองหุ้นไม่มากนัก มีโอกาสที่จะ Outperform ตลาดฯได้ เช่น COM7, BANPU, SGP, AH, ASAP เป็นต้น

โดยสุโชติ ถิรวรรณรัตน์

ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)

www.mitihoon.com