มิติหุ้น-SUN ลั่นงบไตรมาส 2/61 โตเด่น รับอานิสงส์บาทอ่อน แถมลูกค้า 200 ราย ป้อนดีลล่วงหน้าเพียบ หนุนออเดอร์ในมือทะลุ 1 พันล้านบาท ลุยเปิดตลาดสินค้าพร้อมทาน เหตุให้มาร์จิ้นสูง 35% ทั้งปีรายได้โต 10% เนื้อหอมฝรั่งจ้องร่วมทุน
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท “KC” และผลิตตามคำสั่งลูกค้าภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า โดย “นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” เผยว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2561 จะเติบโตโดดเด่น เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 ที่มีกำไรสุทธิ 5.26 ล้านบาท หลักๆมาจากได้รับประโยชน์อย่างมากจาก “ค่าเงินบาทอ่อนค่า” ทำให้ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 80.90% ของรายได้ทั้งหมด
โชว์ออเดอร์ในมือทะลุพันล.
ขณะเดียวกันลูกค้ากว่า 200 ราย ที่กระจายอยู่กว่า 50 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี เลบานอน ตุรกี อิหร่าน ได้ทยอยสั่งออเดอร์ล่วงหน้า 3 เดือน 6 เดือน และ1ปี เข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ขณะนี้บริษัทมีออเดอร์ที่รอส่งมอบในมือสูงกว่า 1,000 ล้านบาท ดันกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเกิน 50% ของกำลังผลิตทั้งหมด หรือกว่า 10,000 ตันต่อเดือน โดยบริษัทยังใช้เงิน IPO ปรับปรุงกระบวนการผลิต ทำให้กำลังผลิตเพียงพอแน่นอน
ทั้งนี้ยังเชื่อมั่นว่าภาพธุรกิจจะเติบโตต่อเนื่องในทุกๆไตรมาสด้วย เพราะบริษัทจะใช้กลยุทธ์ขยายตลาดที่มีศักยภาพทั้งใน ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี’ รวมถึงออกผลิตใหม่ๆในต่างประเทศ อย่าง “ข้าวโพดปิ้งพร้อมทาน” ล่าสุดได้ส่งออก
สู่ประเทศเกาหลี ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดี จากปัจจุบันวางจำหน่ายในประเทศไทยผ่าน 7-Eleven และ Makro เท่านั้น
รุกขายสินค้ามาร์จิ้นสูง
โดยบริษัทจะเน้นขยายตลาด “ข้าวโพดพร้อมทาน” มากขึ้น เพราะความต้องการสูงมากและให้มาร์จิ้นสูงถึง 25-35% เมื่อเทียบกับข้าวโพดกระป๋องที่ให้มาร์จิ้นเพียง 10-15% และข้าวโพดแช่แข็งที่ 25% ดังนั้นตั้งเป้าภายใน 1-2 ปีข้างหน้าสัดส่วน ข้าวโพดพร้อมทาน จะเพิ่มขึ้นเป็น 15% จาก 10% ,ข้าวโพดแช่แข็ง เพิ่มขึ้น 25% จาก 20% แต่ข้าวโพดกระป๋องลดลง 60% จาก 70% สำหรับทั้งปี 2561 มั่นใจรายได้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อน
นายองอาจ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้มีพันธมิตรต่างประเทศเข้ามาเจรจาขอร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัท ซึ่งบริษัทเองก็ไม่ได้ปิดกั้นในการเจราจาร่วมทุน แต่ขอพัฒนาธุรกิจของบริษัทให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งก่อน ดังนั้นจึงยังไม่ได้ข้อสรุป
www.mitihoon.com