ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) โดยนายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า อีกทั้งคาดว่ายอดการออกตราสารหนี้ระยะยาวช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 3.27-3.7 แสนล้านบาท จากครึ่งปีแรกที่ 4.35 ล้านล้านบาท และคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 7.6-8 แสนล้านบาท เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 5.45-6.2 หมื่นล้านบาท เป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ (GDP) ที่มีการปรับประมาณการณ์จาก 4.2% เป็น 4.5% และต้นทุนดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการควบรวมกิจการ (M&A) ของบริษัทขนาดใหญ่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เช่น TBEV, โครงการ One Bangkok, กลุ่ม ICT และ MINT มูลค่ารวม 9.7-1.3 แสนล้านบาท อีกทั้งในครึ่งปีหลังนี้บริษัทเอกชน จะครบกำหนด Rollover จำนวน 2.24 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีการ Rollover ประมาณ 53% หรือคิดเป็น 1.2 แสนล้านบาท ส่งผลทำให้ทั้งปีคาดว่ายอดการออกตราสารหนี้ระยะยาวจะอยู่ที่ 7.6-8.0 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 8.3 แสนล้านบาท เนื่องจากปีก่อนมีการเข้าซื้อกิจการของกลุ่ม BJC ซึ่งถือว่าเป็นขนาดดิลที่ใหญ่
ขณะเดียวกันคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (รุ่นอายุ 2 ปี) ช่วงครึ่งปีหลังปี 61 อยู่ในกรอบแคบ สวนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว 10 ปีมีทิศทางการปรับตัวขึ้นในกรอบจำกัด เนื่องจากปรับขึ้นไปค่อนข้างมากแล้ว
นอกจากนี้ดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะยังคงที่ถึงช่วงปลายปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง การเกินดุลบัญชีเดินสพัดสูง เงินสำรองระหว่างประเทศสูงและหนี้ต่ำ จึงไม่มีแรงกดดันให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้ประเทศอื่นจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว แต่เชื่อว่าในปี 62 จะขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น การลงทุนภาครัฐ และเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงสภาพคล่องในระบบ
สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งปีแรก เติบโตได้ดี มูลค่าคงค้างกว่า 12.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากสิ้นปี 60 อยู่ที่ 11.56 ล้านล้านบาท โดยเป็นการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวมีมูลค่า 4.4 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีก่อนอยู่ที่ 1.4% ส่วนการออกตราสารหนี้ระยะสั้นเพิ่มขึ้น 30% จากการกู้ยืมในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
ทั้งนี้มองว่าเงินทุนจากจ่างประเทศ (Fund outflow) ที่ไหลออก เป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยคาดว่าในระยะ 6 เดือน ถึง 1 ปีจากนี้ ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งแรงได้ และทำให้เงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุน อย่างไรก็ตามเงินทุนไหลออก ส่วนใหญ่จะออกจากตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินทุนไหลออกไปแล้ว 8.19 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 10% ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ