ในช่วงเดือนมิถุนายน ค่าเงินหยวนในตลาด offshore อ่อนค่าลง 3.2% ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้คือเมื่อเดือนสิงหาคม 2015 จากเหตุการณ์การลดค่าเงินหยวนของธนาคารกลางจีน/Peoples Bank of China (PBOC) และเปลี่ยนนโยบายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกจีน ซึ่งก่อให้เกิดแรงเทขายหุ้นในตลาดโลกออกมาและเกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากจีน ตลาดหุ้น MSCI Asia ปรับตัวลง -12%, ในขณะที่ SET -10% เราคิดว่าเงินหยวนที่อ่อนค่าในช่วงนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนนโยบายของ PBOC แต่เป็นการสะท้อนถึงการอ่อนค่าลงของค่าเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) และความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ามากกว่า
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงมาแล้ว 1.7% แต่ยังถือเป็นหนึ่งในค่าเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในตลาด EM เราคิดว่าค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วนี้สะท้อนถึงเจตนาของ PBOC ที่จะยอมให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงเพื่อคานแรงกดดันจากกำแพงภาษี เราคิดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและจีนที่ถ่างกว้างขึ้น (Fed ออกแนว hawkish แต่ PBOC ลด RRR) อาจจะทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงไปอีก และยังส่งผลทำให้การส่งออกของไทยมีความเสี่ยงมากขึ้นเพราะจะต้องแข่งกันจีน ซึ่งถือเป็นคู่แข่งในเรื่องการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยยอดการส่งออกไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วน 11% ของยอดส่งออกทั้งหมดของไทย ถ้าหากเงินหยวนอ่อนค่าลงต่ำกว่า 6.7 หยวน/USD ก็จะทำให้ตลาดยิ่งผันผวนมากขึ้น (ตลาดคาดว่า PBOC จะเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาแนวรับนี้ไว้)
การที่ตลาดหุ้นจีนไม่ตอบรับการลด RRR ของ PBOC (US$1.08 แสนล้าน) และการเลือกตั้งของตุรกีก็เป็นการยืนยันมุมมองของเราว่าภาวะตลาด EM ยังอ่อนแอ ทั้งนี้ การที่ PBOC ปรับลด RRR (โดยในวันที่ 5 ก.ค. จะมีการปรับลดเป็นครั้งที่สามของปีนี้) ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดไว้อยู่แล้วแต่แทนที่ตลาดจะตอบรับในด้านบวก นักลงทุนกลับเทขายหุ้นในตลาดจีนออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงว่านักลงทุนคาดหวังว่าจะมีการดำเนินการมากกว่านี้
ในทำนองเดียวกัน การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินลีราของตุรกีที่แข็งขึ้นหลังเลือกตั้ง และการปรับขึ้นดัชนีหุ้น XU100 ของตุรกี (+2%) เริ่มปรับลดลง โดยทั้งจีนและตุรกีต่างก็อยู่ในช่วง bear market (-20% จากจุดสูงสุดในช่วง bull market) ถึงแม้ว่าในอดีตตลาดหุ้นจีนจะค่อนข้างแตกต่างจากตลาด EM อื่นๆ แต่แรงเทขายหุ้นจีนในช่วงนี้ก็มีส่วนในการฉุดตลาด EM อื่นๆ ลงไปด้วยเนื่องจากความกลัวว่าปัญหาความตึงเครียดของสองเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกจะทวีความรุนแรงขึ้น
ทางหลักทรัพย์กรุงศรีมองว่าว่ามีปัจจัยที่อาจจะช่วยให้ภาวะตลาดดีขึ้นน่าจะเกิดจาก i) การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ii) มีการบรรลุข้อตกลงระยะยาวเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และ iii) PBOC อัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เรามีมุมมองที่เป็นบวกน้อยลงกับสองปัจจัยแรกเนื่องจาก Fed ได้ส่งสัญญาณออกมาชัดเจนแล้วว่าตั้งใจจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก ส่วนประเด็นความขัดแย้งทางการค้าก็ยังไม่น่าจะหาทางออกได้ในเร็วๆ นี้
เราคาดว่าแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติจะยังคงกดดัน SET ต่อไป โดยตั้งแต่ต้นปี 2018 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วทั้งสิ้น 1.80 แสนล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศก็ยัง “รอดูสถานการณ์” ต่อไป รวมถึงปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคในโลกจะยังคงทำให้ตลาดผันผวนต่อไปในอีกสองสามเดือนข้างหน้า ดังนั้น เราจึงแนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์ defensive และเลือกหุ้นที่แนวโน้มกำไรฟื้นตัวได้ดีอย่าง BDMS, CHG, CPALL, BEM, ANAN, และ QH
www.mitihoon.com