มิติหุ้น – KTC ไม่ลื่นปรื๊ด ใช้พาร์ใหม่ได้แค่ 2 วัน โดนทุบเดี้ยงติด Floor แฉ! มีการขายผ่าน SBL และบล็อกเทรดผ่านหลายโบรก กูรูเตือนแล้วให้ระวังขบวนการลากราคาเล่นข่าวแตกพาร์แล้วเททิ้ง สาวข้อมูลพบ PTT – KTC ทำแบบเดียวกัน โบรกฯ แนะให้ “ขาย” ชี้ราคาแพง เทรดบน PBV สูงลิ่ว 5.7 เท่า หั่นเป้าใหม่เหลือ 24 บาท
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ราคาหุ้น บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC เมื่อวันที่ 16 ก.ค.61 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการเทรดพาร์ใหม่ 1 บาท พบว่าก่อนปิดตลาด ถูกเทขายออกมาอย่างหนัก จนราคาร่วงติดFloor ที่ 23.10 บาท ลดลง 9.90 บาท หรือ 30% มูลค่าซื้อขายกว่า 2,589 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้น KTC ปิดซื้อขายเมื่อวันที่ 12 ก.ค.61 ซึ่งเทรดที่พาร์ 10 บาท ปิดที่ 354 บาท ลดลง 3 บาท จากวันก่อนหน้า หลังหลังจากเทรดพาร์ใหม่เมื่อวันที่ 13 ก.ค.61 ปิดที่ 33 บาท ลดลงอีก 2.40 บาท กระทั่งวันที่ 3 ของการเทรดพาร์ใหม่ ถูกทุบจนร่สวงติด Floor รวม 3 วัน ลดลง 34.74%
แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า หุ้น KTC มีการขายผ่านการทำชอร์ตเซลโดยยืมหุ้นมาขาย หรือ SBL และผ่านบล็อกเทรดหลายโบรกเกอร์ตั้งแต่ช่วงเช้า และมีการขายออกตลอดวัน กระทั่งโดนทุบจนราคาติด Floor
เตือนแล้ว! ให้ระวังโดนเทขาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิเคราะห์ได้ออกมาเตือนนักลงทุนให้ระวังสำหรับผู้ที่เล่นหุ้น KTC เนื่องจากมีจุดสังเกตว่า มีการไล่ราคาขึ้นมาต่อเนื่อง และอาจจะถูกเทขายหลังแตกพาร์ โดยพบการลากราคาจากแถวๆ 180 บาท ช่วงเดือน ม.ค.61 ขึ้นไปแตะระดับ 330 บาทช่วงเดือน เม.ย.ที่มีข่าวจะแตกพาร์ จากนั้นมีแรงดันราคาไปแตะสูงสุด 382 บาท เมื่อวันที่ 14 พ.ค.61 กระทั่งก่อนแตกพาร์ปิดที่ 354 บาท และล่าสุดปิดที่ 23.10 บาท หากเทียบพาร์ 10 บาท จะเท่ากับ 231 บาท
เช่นเดียวกับ บมจ.ปตท.หรือ PTT ที่มีการดันราคาจากแถวๆ 500 บาทช่วงเดือน ธ.ค.60 กระทั่งขึ้นมาเฉียด 600 บาท ก่อนจะแตกพาร์เมื่อวันที่ 24 เม.ย.61 และหลังแตกพาร์ ราคาลดลงมาต่อเนื่อง ล่าสุดปิดที่ 47.50 บาท หากคิดที่พาร์ 10 บาทเดิม จะเท่ากับ 475 บาท ต่ำกว่าช่วงที่มีข่าวว่าจะแตกพาร์ด้วยซ้ำ
โบรกแนะ “ขาย” หั่นเป้าเหลือ 24 บ.
ด้าน บล.ไทยพาณิชย์ แนะนํา “ขาย” เนื่องจากหุ้น KTC ซื้อขายที่ valuation ที่แพง PER 19 เท่า และ PBV 5.7 เท่า ขณะที่คาดว่า ROE ไมน่าจะสามารถยืนอยู่ในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากการตั้งสำรองลดลงชั่วคราวและหลักเกณฑ์เข้มงวดมากขึ้น พร้อมทั้งปรับราคาเป้าหมายเป็น 24 บาท (3.5 เท่าของประมาณการ BVPS กลางปี 62) เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนราคาพาร์เป็น 1 บาท