ลดน้ำหนักลงทุนหุ้นญี่ปุ่น เน้นหุ้นสหรัฐ ยุโรป

64

สวัสดีท่านนักลงทุนท่านนะครับ เริ่มต้นเข้าสู่เดือนใหม่ในสัปดาห์นี้ ทิศทางการลงทุนพร้อมกับปัจจัยสำคัญๆ ยังมีเข้ามาให้ติดตามกันต่อเนื่องนะครับ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นไทยค่อนข้างสดใส SET Index ปิดตลาดที่ระดับ 1,701.9 จุด สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 55 จุด หรือ 3.3 % ด้วยแรงซื้อที่กลับเข้ามา หลังจากที่งบการเงินไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมออกมาดี

แต่ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยต่างประเทศจะเป็นประเด็นที่ตลาดหุ้นทั่วโลกติดตามกัน เพราะจะมีการประชุมธนาคารกลางหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น U.S., U.K., Japan, Mexico และ Brazil  โดยที่จะถูกจับตามองเป็นหลักคือ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75-2.0% และการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งผลการประชุมล่าสุดนั้น ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน พร้อมกับปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปีงบประมาณ 2561 ลงเหลือ 1.1% จากระดับ 1.3% และลดคาดการณ์เงินเฟ้อปีงบประมาณ 2562 ลงเหลือ 1.5% จากระดับ 1.8%สำหรับคาดการณ์ปีงบประมาณ 2563 นั้น BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์ลงเหลือ 1.6% จากระดับ 1.8%

โดยรวมหลังจากผลการประชุมที่ออกมา  KTBST ประเมินว่า BOJ จะยังคงเดินหน้าอัดฉีดไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยวงเงิน 80 Trillion yen ต่อปี และคงดอกเบี้ยไว้ที่ -0.1% ซึ่งในด้านของการอัดฉีดนั้นไม่ว่าจะซื้อ ETF ที่อ้างอิงกับ NIKKEI หรือ TOPIX นั้นไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาใหญ่ของ BOJ ที่ยังคงรออยู่ในภายภาคหน้าไม่ใช่ว่าจะอัดฉีดผ่านช่องทางใด แต่เป็นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างเงินเฟ้อที่ยังคงฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้า และความเสี่ยงด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงรออยู่ในอนาคตเนื่องมาจากการเตรียมขึ้นภาษีค้าปลีกจาก 8% เป็น 10% ที่จะทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการใช้นโยบายการเงินแบบขยายตัวที่มีการฟื้นตัวได้ช้าที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใหญ่ๆ ที่เริ่มมีการส่งสัญญาณการยุติการทำ QE อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ประเด็นปัญหาสำคัญที่ญี่ปุ่นยังคงเจอก็คือ ภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ราว 1% ในขณะที่การจ้างงานของญี่ปุ่นเริ่มทรงตัวในระดับที่ต่ำด้วยเช่นเดียวกัน อาจจะกล่าวได้ว่า BOJ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาและเศรษฐกิจนั้น ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อตกต่ำในตามเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับการลงทุนนั้น KTBST ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นน้อยกว่าตลาด (Underweight) และเน้นการลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้ว (Developed market) อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งได้รับผลกระทบจากประเด็นด้านสงครามการค้าที่ค่อนข้างต่ำ นะครับ … อย่างไรก็ตามต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางอื่นๆ และตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ เพื่อประกอบทิศทางการลงทุนด้วยนะครับ

คุณชาตรี  โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

บล. เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST)