ราคาน้ำมันดิบร่วงกว่าร้อยละ 2 หลังสต๊อกสหรัฐฯ ปรับเพิ่มสวนทางคาดการณ์

188

– ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดปรับฐานลงกว่าร้อยละ 2 หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นสวนการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านอุปทานของตลาดน้ำมันดิบ ประกอบกับถูกกดดันจากความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

– สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3.8 ล้านบาร์เรล หลังพบปริมาณการนำเข้าพุ่งกว่า 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยข้อมูลดังกล่าวสร้างความกังวลต่ออุปทานในตลาด เนื่องจากมีทิศทางตรงกันข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงถึง 2.8 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ด้านปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับตัวลดลงกว่า 2.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดเพียง 1.3 ล้านบาร์เรล

– ตลาดกลับมามีความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อีกระลอก หลังสำนักงานคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เผยว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการปรับอัตราเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 จากเดิมร้อยละ 10 เพื่อเป็นการตอบโต้ที่จีนไม่ยินยอมต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ และประกาศมาตรการภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ

+ EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 30,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.44 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. หลังพบปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกปรับลดลงกว่า 75,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ว่าปริมาณการผลิตในบริเวณอื่นๆ ได้ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะแหล่งน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil)

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดที่ช่องแคบบับเอลมันเดบ (Bab al-Mandeb strait) หลังกองกำลังกบฎฮูตีในเยเมนเข้าโจมตีเรือขนส่งน้ำมัน 2 ลำ ในวันพุธที่ผ่านมา ส่งผลให้นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียแถลงการณ์ ยุติการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดจะคลี่คลาย
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศที่ปรับลดลง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ก.ค. 61 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 93.8 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากสูงสุดที่ร้อยละ 97.5

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังในการประชุมช่วงปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมากลุ่มผู้ผลิตตกลงที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากเวเนซุเอลา และอิหร่าน