ตลาดฯสัปดาห์ที่ผ่านมาผันผวน “บวกสลับลบ” ตามที่เราคาด และเรายังคงประเมินตลาดจะยังอยู่ในช่วงของการผันผวน อาจแกว่งตัวขึ้นสลับลงได้ตลอด แม้เม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มนิ่งขึ้นและเป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. แต่ประเด็นที่ยังต้องจับตาในเดือนนี้ ได้แก่
i) การรายงานผลประกอบการ 2Q61 ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะครบถ้วนในกลางเดือนนี้ ขณะนี้ผ่านมาเกินครึ่งทางแล้ว ยังคงใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิจัยฯ และ Bloomberg consensus คาดการณ์ไว้ คือ เติบโตราว +10% YoY ในช่วงเวลาที่เหลืออาจทำให้ หุ้นรายตัวมีความผันผวนของราคาเกิดขึ้นได้ในช่วงการรายงานผลประกอบการ อย่างไรก็ดีสำหรับภาพรวมตลาดฯ การที่ผลการดำเนินงาน 2Q61 ออกมาใกล้เคียงกับที่คาด ทำให้ความเสี่ยงด้านการปรับลดประมาณการลงนั้นเริ่มลดลง ตามลำดับ
ii) ประเด็นสงครามการค้า สหรัฐฯ – จีน ที่ยังคงคลุมเครือ และไม่มีข้อสรุป (เส้นตายการบังคับใช้มาตรการภาษีเพิ่มเติมคือสิ้นเดือน ส.ค.นี้) ยังมีข่าวลบรายวันออกมากดดันตลาดฯได้ต่อเนื่อง ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ บล เคจีไอ (ประเทศจีน) ประเมินในกรณีเลวร้ายที่สุดคือไม่มีการเจรจากันระหว่างทั้ง 2 ประเทศ จะส่งผลกระทบต่อ GDP จีนเพียง <0.4% และรัฐบาลจีนสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยได้ไม่ยาก ดังนั้นแม้ในกรณีเลวร้าย เราก็ประเมินว่าผลกระทบต่อประเทศไทย ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางการค้าโดยตรงนั้นยิ่งน้อยลงไปอีก แต่ข่าวสารเรื่องนี้จะเป็นตัวกด Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นระยะๆ ได้เช่นกัน จนกว่าจะมีการเจรจาเกิดขึ้น ก่อนเส้นตายปลายเดือนนี้
iii) การปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีนของ MSCI รอบสอง (มีผลสิ้นเดือน ส.ค.นี้) เบื้องต้นเราประเมินว่าอาจทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล และต้องการรอดูผลให้ชัดเจนก่อนว่าจะมีการปรับพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติหรือไม่ อย่างไรก็ดีเราประเมินว่าผลกระทบต่อเม็ดเงิน Fund flow ในรอบนี้จะน้อยกว่ารอบก่อน (เดือน พ.ค.) เนื่องจากเห็นได้ชัดว่านักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นไทยออกไปมากกว่าแสนล้านบาท และเริ่มซื้อกลับในต้นเดือน ส.ค. นั้นชี้ว่ามีการจัดพอร์ตเตรียมพร้อมไว้แล้วนั่นเอง ไม่จำเป็นต้องเร่งขายหุ้นไทยอีกรอบ
แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ทั้ง 3 ประเด็นที่กล่าวข้างต้น แต่เราเชื่อว่าช่วงครึ่งหลังของเดือน ส.ค.จะมีข่าวดีออกมากลบข่าวลบบ้าง ได้แก่ การรายงานตัวเลข GDP 2Q61 ของไทย วันที่ 20 ส.ค. ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจาก 1Q61 (ฝ่ายวิจัยฯ คาด GDP 2Q61 โต +5.0% เทียบกับ 1Q61 ที่ +4.8%) ดังนั้นเราแนะนำจังหวะตลาดผันผวน ลบสลับบวก จะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดีกำไรเติบโต / มีสตอรี่การลงทุนที่ชัดเจน ในช่วงที่ตลาดย่อตัวลงมา โดยประเมินกรอบ SET index 1,680 – 1,750 จุด กลุ่มที่น่าสนใจได้แก่ i) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (กำไรพ้นจุดต่ำสุด + ดอกเบี้ยขาขึ้น) KBANK, BBL, SCB, KTB / ii) กลุ่มค้าปลีก (การบริโภคในประเทศฟื้น + ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง) CPALL, COM7 / iii) กลุ่มนิคมฯ (ธีม EEC) AMATA, WHA / iv) กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี (ราคาพลังงานยืนสูง + Spread บางชนิดยืนสูง) SGP, IVL เป็นต้น
โดยสุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)
www.mitihoon.com