วิกฤติเศรษฐกิจตุรกี โดดเดี่ยวหรือลุกลาม

174

ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบางในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกตะวันตก เมื่อมีกระแสข่าวเข้ามากระทบ ตลาดการเงินมักจะกระชากตัวค่อนข้างแรง และรอบนี้ก็เช่นกัน สิ่งที่เราเห็นคือการร่วงลงอย่างหนักของค่าเงินลีราซึ่งกำลังจะกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบในตุรกี สร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงสกุลเงินตลาดเกิดใหม่อย่างชัดเจน

สัญญาณวิกฤติในตุรกีก่อตัวมาพักใหญ่แล้ว โดยค่าเงินลีราเริ่มอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนมีนาคม ขณะที่ตลาดกังวลต่อการแทรกแซงด้านนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีเออร์โดกัน ซึ่งคัดค้านการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 15.85% หลังจากเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงเกินไป ทั้งนี้ นักลงทุนคาดหวังว่าธนาคารกลางตุรกีจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% สู่ระดับ 17.75% ในวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ทางการกลับสร้างความผิดหวังให้กับตลาดด้วยการคงดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินลีราอ่อนค่าลงอย่างฉุดไม่อยู่ (กราฟด้านล่าง)

หากพิจารณาผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย ถือว่าแรงกระเพื่อมอยู่ในระดับจำกัด เนื่องจากตุรกีคิดเป็น 0.32% และ 0.1% ของมูลค่าการค้าและการลงทุนโดยตรง (FDI) ของไทย แต่การที่ตลาดการเงินทั่วโลกนั้นเชื่อมโยงกัน ผลกระทบทางอ้อมผ่านการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่างๆ และความผันผวนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่จังหวะของเกิดวิกฤติในตุรกีนั้นพ้องกันกับช่วงเวลาที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่กำลังเผชิญความท้าทายจากภาวะขาขึ้นของดอกเบี้ยโลก สภาพคล่องส่วนเกินในระบบลดลง รวมถึงผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ สะท้อนว่า Sentiment ที่บอบบางอยู่ก่อนแล้วถูกซ้ำเติม และเพิ่มความเสี่ยงที่กระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่อาจเร่งตัว

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่ามีความน่าจะเป็นค่อนข้างน้อยที่วิกฤติจะลุกลาม เนื่องจากปัญหาต่างๆ มีลักษณะเฉพาะตัวสำหรับตุรกี ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างขาดสมดุล หนี้ต่างประเทศสูงราว 50% ของจีดีพี ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ รวมถึงมาตรการล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กจากตุรกีซึ่งผูกมิตรกับรัสเซีย

ในภาวะเช่นนี้ เงินดอลลาร์จะยังคงได้แรงหนุน ไม่เพียงแต่จากเครื่องบ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สดใสเท่านั้น แต่จากประเด็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในแห่งอื่นๆของโลก อาทิ วิกฤติค่าเงินลีราตุรกีและความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่เลวร้ายลง สถานการณ์ค่าเงินรูเบิลรัสเซียขาดเสถียรภาพ ขณะที่อังกฤษกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะต้องออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลงทางการค้า หรือ No-deal Brexit และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง

นอกจากนี้ เงินยูโรแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ท่ามกลางความวิตกต่อความเสี่ยงของธนาคารยุโรปที่ถือครองตราสารตุรกี ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจะสามารถรับมือกับนโยบายกีดกันทางการค้าได้ดีกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว เรายังคงให้น้ำหนักไปที่นโยบายการเงินของสหรัฐฯ และทิศทางเศรษฐกิจจีน เป็นปัจจัยชี้นำสำคัญ

โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ต

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com