สคช. พร้อมสนับสนุนสถานศึกษาและภาคเอกชนเชื่อมโยงทฤษฎีและปฏิบัติให้เป็นหลักสูตรทวิภาคี  

93

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช. เปิดเผยระหว่าง การเสวนาความร่วมมืออาชีวศึกษาระบบทวิภาคีไทย-เยอรมัน ว่า ที่ผ่านมา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายให้สอดรับกับการก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ของรัฐบาล การพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ สู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การมุ่งสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการปรับหลักสูตรให้เป็นไปตามมาตรฐานอาชีพที่จัดทำแล้วเสร็จ และนำนักเรียน นักศึกษา เข้าสู่ระบบการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพก่อนจบการศึกษา และนำร่องในสถาบันการศึกษา 19 แห่ง ทั้งระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา

จากบทบาทที่กล่าวมานี้ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ถ้าสถาบันการศึกษากับเอกชน จับมือกันในการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ดังตัวอย่างจากประเทศเยอรมันที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ลดปัญหาการว่างงาน การผลิตคนไม่ตรงกับงาน ในการเสวนาครั้งนี้ งานเสวนามีจุดประสงค์เพื่อย้ำถึงความสำคัญของบทบาทเอกชนและการฝึกอบรมในสถานประกอบการ  ส่งเสริมการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ ซึ่งทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในการสร้างความร่วมมือผลิตแรงงานจากภาคอาชีวศึกษา และการได้รับโอกาสในการสนับสนุนจากภาคเอกชน         ส่วน สคช. มีหน้าที่ในการออกใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อการันตีทักษะ สมรรถนะของคนในแต่ละสาขาวิชาชีพ ให้เป็นที่ยอมรับในประเทศและต่างประเทศ และจากการที่  สคช. มีบทบาทสำคัญในกาการดำเนินการจัดทำมาตรฐานอาชีพ โดยมุ่งเน้นการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในก้าวสู่ไทยแลนด์  4.0 ที่ผ่านมา สคช. ได้มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพไปแล้ว 50 สาขาวิชาชีพ 570 อาชีพ และ 1,572  คุณวุฒิวิชาชีพ และองค์กรรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ 168 แห่ง จาก 39 สาขาวิชาชีพ

ศาสตราจารย์ ดร. ฮูเบิร์ต แอร์ทเทิล รองประธานและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันอาชีวศึกษาและการฝึกวิชาชีพระดับสหพันธ์ กล่าวว่า จากงานวิจัย มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสถานประกอบการในเยอรมนีได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝึกอบรมในสถานประกอบการ จากความต้องการของบริษัทเอกชนของเยอรมันที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะสมรรถนะที่ตรงกับงาน บริษัทต่างๆ จึงให้ความสำคัญในการเข้าไปร่วมกับสถานศึกษาฝึกนักศึกษาในสถานประกอบการ เพื่อให้มีทักษะ สมรรถนะ ทำงานได้จริง จบแล้วมีงานรองรับทันที ซึ่งเอกชนในเยอรมันให้ความสำคัญต่อการลงทุนในส่วนนี้สูงมาก มีทัศนคติในการทำงานสายวิชาชีพในเชิงบวก ไม่เป็นภาระของผู้ปกครอง สามารถมีรายได้เลี้ยวตนเองตั้งแต่อายุ 18 ปี

รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า การที่นักเรียน นักศึกษาสายอาชีพ เป็นทรัพยากร เป็นกำลัง ในตลาดแรงงานของประเทศอย่างแท้จริง ปัจจุบัน จะมีการรวมวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาและโรงเรียนจิตรลดาสายวิชาชีพเป็น สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และมีนโยบาย

“เรียนคู่งาน” คือ เปิดโอกาสให้นักเรียนที่กำลังเรียนได้ทำงานด้วย ส่วน “งานคู่เรียน” คือ เปิดโอกาสให้คนที่ทำงานแล้วได้ใช้เวลาหลังเลิกงานในการเรียนเพิ่มเติม โดยพัฒนาหลักสูตรร่วมกันกับผู้ประกอบการ ส่งเด็กไปฝึกงานในสถานประกอบการ มีการให้ทุนการศึกษา ทำให้เด็กมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าอยากทำอาชีพอะไร เมื่อเด็กเรียนจบแล้ว สถานประกอบการก็คัดเลือกเด็กเข้าเป็นพนักงานประจำได้ทันที ส่วนสถานศึกษาเองก็เปิดกว้างให้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญสาขาอาชีพต่างๆ เข้ามาสอนในหลักสูตร

ดร. อธิปไตย โพแตง นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษอาวุโส สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า อาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย ร้อยละ 20 ของนักศึกษาอาชีวะทั้งหมด ได้นำระบบทวิภาคีมาใช้นานแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะความต้องการตลาดแรงงานวิชาชีพในประเทศไทยยังมีอีกมาก การที่จะเพิ่มสัดส่วนการเรียนในระบบทวิภาคีให้เพิ่มมากขึ้นนั้น ผู้ประกอบการภาคเอกชนต้องมีความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาได้เข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการมากขึ้น ไม่มองว่าเป็นภาระแก่บริษัท ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มปริมาณเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มคุณภาพด้วย เราต่างจากเยอรมันตรงที่ อำนาจหน้าที่ในการจัดการด้านการศึกษาเราเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ที่เยอรมันเริ่มจากความต้องการที่แท้จริงของภาคเอกชน เชื่อมโยงโลกของการทำงานจริงกับหลักสูตรการศึกษาเข้าด้วยกัน  มาตรฐานความต้องการจากภาคเอกชน จะนำมาซึ่งมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ  นอกจาก ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว แรงงานที่ได้จะระบบทวิภาคีนี้จะมีความจงรักภักดีต่อบริษัทที่ให้โอกาสในการฝึกงาน ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาแก่เค้า การศึกษาไทยต้องเร่งยกระดับมาตรฐานวิชาชีพเทียบชั้นสากล  รับการเติบโตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สอศ. แนะต้องมีกระบวนการเรียนรู้แนวใหม่ เรียนทั้งในและนอกสถานที่ โดยใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน    เชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับมาตรฐานวิชาชีพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

www.mitihoon.com