ปัจจุบัน แม้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งรายเล็กรายใหญ่ จะเริ่มหันไปขยายลงทุนในต่างประเทศกันมากขึ้นก็ตาม แต่ทุกรายยังติดตามเฝ้ารอ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan) หรือ PDP 2018 ว่าเมื่อไหร่จะแล้วเสร็จซะที เพราะต้องการวางแผนการลงทุน และลุ้นกันว่าโครงการที่ดำเนินการไว้ล่วงหน้าจะสะดุดหรือไม่ อย่างเช่นการลงทุนขายไฟฟ้าให้กับเอกโดยตรง
ขณะเดียวกัน การลงทุนภายในประเทศ ย่อมมีต้นทุนและความเสี่ยงน้อยกว่าลงทุนในต่างประเทศ เอกชนจึงได้เฝ้าอย่างใจจดใจจ่อต่อการขยายลงทุนในไทย
อย่างไรก็ตาม จากที่ติดตามข่าว โดยทางนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดทำแผน แจ้งว่า กำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้แล้วเสร็จทันในเดือนก.ย. 2561 ตามกำหนดเวลาของแม่ทัพกระทรวงพลังงาน
ก็ต้องลุ้นกันว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าตามแผนพลังงานฉบับใหม่ จะเป็นอย่างไร เช่น มาจากพลังงานทดแทนกี่เปอร์เซ็น จากเชื้อเพลิงฟอสซิลเท่าไร การส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้าใช้เองภาคครัวเรือน เอกชนกี่เปอร์เซ็น และรับซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเท่าไร และจะสอดคล้องกับแผนการลงทุนของภาคเอกชนหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญพลังงานอย่าง นายมนูญ ศิริวรรณ มองว่าแผนพีดีพี 2015 ที่จะปรับเปลี่ยนใหม่เป็นพีดีพี 2018 นั้น ต้องมีการบริหารแหล่งเชื้อเพลิง และสร้างโรงไฟฟ้าแยกเป็นตามรายภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงได้ โดยดูว่าภาคไหนมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน และอยากให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้กำหนดเองว่าต้องการโรงไฟฟ้าหรือไม่ หรือจะมีโรงไฟฟ้าแบบไหน จะเหมาะสม
หากแผนพีดีพีถูกกำหนดให้มีการลงทุนผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชนและเอกชน ก็จะเกิดอานิสงส์ต่อภาคเอกชนอย่างมาก เพราะหลายรายได้ลงทุนดักไว้ล่วงหน้าแล้ว
“บิ๊กเซ็ต”