เป็นไปตามคาด คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ประชุมนัดล่าสุด 19 ก.ย.2561 มีมติ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี”
แม้มติจะไม่ต่างจากการประชุมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมานับ 10 ไตรมาส แต่ “เสียงแตก” เริ่มมีมากขึ้น อย่างคราวก่อน เมื่อ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา กนง.มีมติ 6 : 1 คงอัตราดอกเบี้ย แต่คราวนี้ เสียง 5 : 2 มีมติให้คงดอกเบี้ย นั่นคือ เสียงที่บอกว่า ไม่ควรจะคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิม “เริ่มมีมากขึ้น”
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลายาวนาน ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ต่างปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันแล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ แทงตัวตรง, FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยดอกเบี้ยถี่ๆ ติดๆ กันหลายรอบ จนล่าสุด ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐขึ้นมาอยู่ที่ 1.50-1.75% สูงกว่าของไทยแล้ว
เงินจากหลายประเทศจึงไหลเข้าตลาดสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น และเงินของประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทย อ่อนค่าลง ซึ่งการที่ค่าเงินของประเทศใดก็ตาม อ่อนค่าลง ย่อมไม่เป็นผลดี เพราะภาระหนี้เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อฐานะการเงินในอนาคตอีกด้วย
ด้านสายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย มองว่า การที่ กนง.เสียงแตกมากขึ้น นับว่า กนง.ได้ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอย่างชัดเจน โดยมีข้อความเพิ่มเติมในผลการประชุมครั้งนี้ว่า “แต่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบัน จะทยอยลดความจำเป็นลง” ซึ่งไม่มีในการประชุมครั้งก่อน
ทำให้คาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในเดือน ธ.ค.2561 อัตรา 0.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 1.50% ต่อปี เป็น 1.75% ต่อปี
ต้องดูว่า กนง.จะใจแข็งอีกหรือไม่
“บิ๊กเซ็ต”